ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทย์ชี้ 2022 หนึ่งในปีที่ร้อนที่สุดของประวัติการณ์


FILE - A woman holds an umbrella to shelter from the sun during a hot sunny day in Madrid, Spain, July 18, 2022.
FILE - A woman holds an umbrella to shelter from the sun during a hot sunny day in Madrid, Spain, July 18, 2022.

ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ 2 แห่งระบุว่า ปี 2022 เป็นปีที่มีอากาศอบอุ่นที่สุดปีหนึ่งเท่าที่เคยมีการเก็บบันทึกมา และเกิดสภาพอากาศเลวร้ายหลายครั้งทั่วโลก โดยหลายที่ประสบภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน

รายงานของสถาบันสมุทรศาสตร์วิทยาเเละชั้นบรรยากาศโลกเเห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NOAA และ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA ชี้ว่า ในปี 2022 อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกอยู่ที่ 0.86 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 ที่คำนวณได้ในปีเดียวกันนี้

การคำนวณของ NOAA แสดงให้เห็นว่า ปี 2022 ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับที่ 6 และการคำนวณของ NASA ระบุว่า ปีที่แล้วเป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับที่ 5 โดยผลการคำนวณที่ต่างออกไปนี้มาจากความแตกต่างการวัดเศษส่วนเล็กน้อยขององศา

แกวิน เอ ชมิดต์ หัวหน้าสถาบัน Goddard Institute for Space Studies ขององค์การ NASA กล่าวว่า อุณหภูมิที่สูงในปี 2022 เป็นประเด็นที่น่าสังเกตอย่างมาก เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศครั้งใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ ลานีญา ที่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิโลกลดลงราว 0.06 องศา

FILE - A tourist takes a drink opposite the Elizabeth Tower also known as Big Ben in London, Thursday, Aug. 11, 2022.
FILE - A tourist takes a drink opposite the Elizabeth Tower also known as Big Ben in London, Thursday, Aug. 11, 2022.

รัสเซล โวซ หัวหน้าสาขาการวิเคราะห์และการสังเคราะห์ที่ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ของ NOAA ระบุว่า การจัดอันดับมีความสำคัญน้อยกว่าแนวโน้มโดยรวมของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น โดยแต่ละปีในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทุกปีถูกจัดอันดับให้เป็นช่วง 8 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ไปแล้ว

โวซ กล่าวด้วยว่า อากาศในช่วงตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมาอบอุ่นกว่าทศวรรษก่อนหน้านั้น โดยอุณหภูมิโลกปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและนับตั้งแต่ช่วงปี 1960 เป็นอย่างน้อย พร้อมกล่าวเสริมว่า “ตอนนี้ โลกมีอากาศอุ่นขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงอย่างน้อย 2,000 ปีที่ผ่านมา หรืออาจจะก่อนหน้านั้นมากก็เป็นได้”

ความแตกต่างในแต่ละภูมิภาค

อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกมีความแตกต่างกันออกไปตามภูมิภาค โดยบางพื้นที่มีอุณหภูมิที่ร้อนกว่าค่าเฉลี่ยมาก อย่างเช่น ยุโรปตอนกลางที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ อุณหภูมิในแถบตะวันตกตอนกลางของสหรัฐฯ (Midwest) กลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

ทั้งนี้ ในปีที่แล้ว ภูมิภาคซีกโลกเหนือมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.1 องศาเซลเซียส ขณะที่ ซีกโลกใต้มีอุณหภูมิสูงขึ้นเพียง 0.61 องศาเซลเซียส

ข้อมูลที่มีการเก็บบันทึกไว้ระบุด้วยว่า ปี 2022 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เช่นเดียวกับในยุโรป อย่างไรก็ตาม ในแอฟริกา ปี 2022 ถูกจัดว่า เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์เป็นอันดับที่ 10 และอยู่ในอันดับที่ 12 สำหรับอเมริกาใต้ อันดับที่ 15 สำหรับอเมริกาเหนือ และอันดับที่ 20 สำหรับภูมิภาคโอเชียเนีย

การเพิ่มขึ้นของความร้อนในปีที่แล้วส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่บริเวณขั้วโลก ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียน้ำแข็งในทะเลอย่างมาก โดยในปี 2022 พื้นที่ของทะเลน้ำแข็งโดยเฉลี่ยที่ปกคลุมในขั้วโลกใต้หรือแอนตาร์กติกลดลงใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.5 ตารางกิโลเมตร ส่วนที่ขั้วโลกเหนือหรืออาร์กติก ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 10.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 11 เท่าที่เคยมีการเก็บบันทึกมา

นอกจากนี้ มีการพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยที่พื้นผิวมหาสมุทรที่วัดลึกลงไปสูงสุดถึง 2 กิโลเมตรสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และอุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรโลกสูงสุด 4 อันดับที่มีการบันทึกล้วนเกิดขึ้นในช่วง 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

การเปลี่ยนทางสภาพอากาศรุนแรง

ปีที่แล้วยังเป็นปีที่เกิดสภาพอากาศรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง อย่างเช่น ภัยแล้งในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ แอฟริกาตะวันออก และพื้นที่ส่วนใหญ่ในยุโรป รวมถึง อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดในปากีสถาน จีน และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังพบว่าเกิดพายุครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างจำนวนหลายครั้งทั้งในอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออก

A man carries some belongings as he wades through floodwaters in Jaffarabad, a flood-hit district of Baluchistan province, Pakistan, Sept. 19, 2022.
A man carries some belongings as he wades through floodwaters in Jaffarabad, a flood-hit district of Baluchistan province, Pakistan, Sept. 19, 2022.

นักวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอข้อมูลจาก NOAA และ NASA ปฏิเสธที่จะกล่าวโทษว่า ทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ชี้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เกิดสภาวะที่ทำให้พายุสร้างความเสียหายได้มากกว่าที่ควรจะเป็น

เป้าหมายลดการปรับขึ้นอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้บรรลุข้อตกลงหลายฉบับที่พยายามจะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับที่บันทึกไว้ในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

โวซ จาก NOAA ให้ความเห็นว่า ในขณะนี้ โลกกำลัง “ให้ท่าเปิดทาง” กับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ปี 2020 เพียงปีเดียวจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงดังว่า แม้ว่า นั่นจะเทียบไม่ได้กับค่าเฉลี่ยของการปรับขึ้นของอุณหภูมิในช่วงหลายปีที่ 1.5 องศาก็ตาม

ส่วน ชมิดต์ จากองค์การ NASA กล่าวว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในเวลานี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมอยู่ 1.1 ถึง 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว และตัวเลขนี้ก็กำลังปรับตัวสูงขึ้นอยู่ พร้อมชี้ว่า ในปัจจุบัน อัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกนั้นอยู่ที่กว่า 0.2 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ซึ่งหากอัตราดังกล่าวยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ค่าเฉลี่ยการปรับขึ้นของอุณหภูมิโลกจะแตะ 1.5 องศา ภายในระยะเวลา 20 ปี

FILE - A Samburu woman fetches water during a drought in Loolkuniyani Primary School, Samburu county, Kenya on Oct. 16, 2022.
FILE - A Samburu woman fetches water during a drought in Loolkuniyani Primary School, Samburu county, Kenya on Oct. 16, 2022.

อย่างไรก็ตาม ชมิดต์ เชื่อว่าว่า การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุณหภูมิโลกยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้อยู่ ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรวดเร็ว

ถึงกระนั้น เฌอเรล เบลเซอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสของ International Climate and Policy Campaign แห่งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Sierra Club กล่าวว่า “ตอนนี้เราอุณหภูมิสูงขึ้น 1.1 องศาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกล่าวว่า เราต้องยึดตัวเลข 1.5 องศาเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุด และ ดูเหมือนว่า ไม่มีใครเต็มใจทำสิ่งที่จำเป็นให้สำเร็จ ฉันพบว่า มันน่าผิดหวังมาก”

เบลเซอร์หวังว่า รายงานของ NOAA และ NASA จะช่วยกระตุ้นให้รัฐสภาสหรัฐฯ ชุดใหม่เร่งดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนงานมากมายซึ่งบรรจุอยู่ในกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่สภาคองเกรสเพิ่งผ่านออกมาใช้งานในปีที่แล้ว เพื่อเป็นจัดหาเงินทุนให้แก่กองทุน Green Climate Fund รวมถึงดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อชดเชยประเทศที่มีรายได้น้อย สำหรับความเสียหายที่ไม่สมเหตุสมผลที่ประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญจากภาวะโลกร้อน

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG