ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ลัทธิชาตินิยมด้านวัคซีน' กับการแข่งขันเพื่อเข้าถึงและใช้วัคซีนก่อนประเทศอื่น


Covid vaccine
Covid vaccine
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:30 0:00

การแข่งขันของประเทศต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หากพัฒนาได้สำเร็จจะมีให้ใช้ในประเทศของตนได้ก่อนใคร ทำให้นักวิเคราะห์ด้านนโยบายสาธารณสุขระดับโลกแสดงความกังวลว่า ประเทศที่ร่ำรวยจะสามารถคว้าวัคซีนไปครองได้ก่อนและทำให้ประเทศที่ยากจนกว่าต้องถูกทอดทิ้ง

ที่ผ่านมา มีตัวอย่างเกี่ยวกับความพยายามเพื่อเข้าถึงและควบคุมทรัพยากรที่จะใช้รับมือกับโควิด-19 มาก่อนแล้ว อย่างเช่น เมื่อเดือนเมษายน รัฐบาลสหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามบริษัท 3 M ไม่ให้ส่งออกหน้ากาก N95 ให้กับลูกค้าในแคนาดาและเม็กซิโก

และก่อนหน้านี้ CEO ของบริษัทเภสัชกรรม Sanofi ของฝรั่งเศส ก็บอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า เงินลงทุน 30 ล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ ในโครงการพัฒนาวัคซีนของบริษัท หมายถึงว่าคนอเมริกันจะได้รับวัคซีนเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม ท่าทีจากผู้บริหารระดับสูงของ Sanofi นี้ได้เปลี่ยนไปในวันต่อมา เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสคัดค้านแนวคิดดังกล่าว

แนวคิดเรื่องการเข้าถึงวัคซีนเพื่อให้ประเทศของตนมีสิทธิ์ได้ใช้ก่อนนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้น เพราะผู้บริหารของสถาบันเซรุ่มของอินเดีย ซึ่งมีสัญญากับโครงการของมหาวิทยาลัย Oxford กับบริษัท Astra Zeneca เพื่อผลิตวัคซีน 60 ล้านโดส ก็ได้เคยกล่าวเช่นกันว่า ส่วนใหญ่ของวัคซีนรุ่นแรกที่ผลิตขึ้นในอินเดียตามสัญญานี้จะมีให้ชาวอินเดียได้ใช้ก่อน ถึงแม้เขาจะยอมรับว่ารัฐบาลอินเดียจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นท้ายสุดก็ตาม

คุณรีเบคคา ไวน์ทรอป ผู้อำนวยการสถาบัน Global Health Delivery Project ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ว่า พฤติกรรมของประเทศที่ร่ำรวยที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเคยเกิดขึ้นเกือบทุกครั้งที่มีโรคระบาดใหญ่ อย่างเช่น ในปีค.ศ. 2009 ซึ่งมีการระบาดของไข้หวัดหมูจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H1N1 นั้น ประเทศที่ร่ำรวยก็ได้สั่งวัคซีนล่วงหน้า และหลังจากที่แน่ใจว่ามีพอใช้แล้ว จึงบริจาคให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยกับปานกลาง

อย่างไรก็ตาม คุณทาบานิ มาโพซา ผู้อำนวยการบริหารของโครงการริเริ่มด้านวัคซีนระดับโลก ที่มีชื่อย่อว่า GAVI เตือนว่า ในโลกปัจจุบันซึ่งการแพร่เชื้อระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นได้ง่ายเหมือนเครื่องบินที่ขึ้นและลงในอีกประเทศหนึ่งนั้น ยิ่งประเทศต่าง ๆ มีความพร้อมที่จะรับมือกับการระบาดใหญ่น้อยเพียงใด ความเสี่ยงระดับโลกสำหรับทุกคนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

เพื่อพยายามรับมือกับปัญหานี้ เมื่อปลายเดือนเมษายน องค์การอนามัยโลกได้เริ่มโครงการริเริ่มพัฒนาวัคซีนร่วม หรือที่มีชื่อย่อว่า ACT Accelerator เพื่อเร่งพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีน ยา รวมทั้งชุดตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างทั่วถึงทั่วโลก

โดยหลักการก็คือ ประเทศต่าง ๆ จะร่วมลงทุนในกองทุนกลางที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนหลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยแต่ละประเทศจะร่วมสนับสนุนกองทุนนี้ตามจำนวนประชากรที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและเปราะบางต่อการติดเชื้อของตน และอย่างน้อยประเทศที่ร่วมลงทุนในโครงการจะได้วัคซีนพอสำหรับประชากรราว 20% ในขั้นแรก

แผนงาน ACT Accelerator ขององค์การอนามัยโลกนี้ มีเป้าหมายจะแจกจ่ายวัคซีน 2,000 ล้านโดสให้ทั้งประเทศสมาชิกที่ร่วมลงทุน และประเทศที่จะได้รับบริจาควัคซีนภายในสิ้นปี 2564

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แผนงาน ACT Accelerator เพื่อเร่งพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนที่สำเร็จแล้วให้ทั้งประเทศที่ร่วมสนับสนุนเงินทุนและประเทศยากจนที่จะได้รับบริจาคนี้ ได้รับเงินทุนเพียงแค่ 10% จากที่ตั้งเป้าไว้เท่านั้น คือเพียงราว 3 พันล้านดอลลาร์จากเป้าหมาย 3 หมื่น 1 พันล้านดอลลาร์

โดยสหรัฐฯ นั้นไม่ได้ร่วมสนับสนุนทางการเงิน เพียงแต่ให้ความสนับสนุนเรื่องผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการเท่านั้น

XS
SM
MD
LG