ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญเตือน สหรัฐฯ ถอนตัวจากอนามัยโลกเป็นภัยต่อความพยายามสกัดกั้นโรคระบาด


FILE - A general view shows the headquarters of the World Health Organization (WHO) in Geneva, Switzerland, June 25, 2020.
FILE - A general view shows the headquarters of the World Health Organization (WHO) in Geneva, Switzerland, June 25, 2020.

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกล่าวเตือนว่า การตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะถอนสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก จะทำลายความพยายามของทั่วโลกในการสกัดกั้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น วัณโรค โรคเอดส์ รวมไปถึงโปลิโอ ที่บรรดาแพทย์เห็นว่าเกือบจะถึงจุดที่สามารถกำจัดโรคนี้ไปได้แล้ว

รัฐบาลทรัมป์ได้แจ้งไปยังเลขาธิการสหประชาชาติและรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (7 ก.ค.) ถึงการตัดสินใจถอนสหรัฐฯ การเป็นสมาชิก ตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยประกาศไว้เมื่อปลายเดือน พ.ค. โดยสหรัฐฯ จะหมดสมาชิกภาพอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ก.ค. พ.ศ. 2564

โฆษกองค์การอนามัยโลกกล่าวกับสำนักข่าวเอ็นบีซีนิวส์ว่า ทางองค์การรับทราบถึงรายงานว่าสหรัฐฯ ส่งคำขอถอนตัวการเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ แต่ไม่ได้ให้ความเห็นอื่นเพิ่มเติม

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า องค์การอนามัยโลก ที่สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศร่วมก่อตั้งในช่วงเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 มีบทบาทในการรวบรวมเผยแพร่ข้อมูลสำคัญให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้รับทราบถึงโรคระบาด ความร่วมมือวิจัยพัฒนาวัคซีน รวมถึงให้คำแนะนำด้านการแพทย์และมอบอุปกรณ์ให้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำ

นายโธมัส บอลลีคี ผู้อำนวยการด้านโครงการอนามัยโลกของคณะมนตรีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Reign Relations) ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร เห็นว่า บทบาทขององค์การอนามัยโลกมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่โลกเผชิญกับโรคระบาดรุนแรงที่สุดในรอบร้อยปี ซึ่งการถอนตัวของสหรัฐฯ จะทำให้ชาวอเมริกันมีความปลอดภัยน้อยลง

นายบอลลีคี กล่าวด้วยว่า แม้ว่าบทบาทขององค์การอนามัยโลกในการรับมือกับภัยโควิด-19 จะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ความรู้และความชำนาญด้านวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคของทางองค์การก็ช่วยให้โลกปลอดภัยขึ้น

XS
SM
MD
LG