ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาวอเมริกันเข้าคูหาเลือกตั้งกลางเทอม - ยังไม่มีรายงานเหตุรุนแรง


A poll worker prepares "I voted" stickers for voters at the City Clerk's Office ahead of the midterm election in Lansing, Michigan, U.S., Nov. 7, 2022.
A poll worker prepares "I voted" stickers for voters at the City Clerk's Office ahead of the midterm election in Lansing, Michigan, U.S., Nov. 7, 2022.

ชาวอเมริกันหลายล้านคนเดินเข้าคูหาเลือกตั้งกลางเทอมในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน เพื่อเลือกสมาชิกรัฐสภา ผู้ว่าการรัฐและสมาชิกรัฐสภาส่วนท้องถิ่นในหลายรัฐทั่วประเทศ ท่ามกลางความกังวลด้านความปลอดภัยและการแทรกแซงต่าง ๆ แต่จนถึงขณะนี้การเลือกตั้งยังคงเป็นไปด้วยความราบรื่น

เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานของรัฐบาลกลางและรัฐบาลส่วนท้องถิ่นต่างเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ตั้งแต่การลอบโจมตีทางไซเบอร์ส การกระทบกระทั่งของกลุ่มที่มีความเห็นขัดแย้งทางการเมือง และการเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ ที่อาจทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประสบความยากลำบาก เช่น ไปคูหาผิด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานความขัดแย้งหรือความรุนแรงเข้ามามากนัก มีเพียงปัญหาทางเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามคูหาเลือกตั้งต่าง ๆ

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานความปลอดภัยทางไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐาน หรือ CISA (Cybersecurity and Infrastructure Security Agency) กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานประชุมแถลงข่าวว่า "เรายังไม่เห็นการคุกคามอย่างเฉพาะเจาะจงและเป็นอันตรายที่อาจคุกคามโครงสร้างพื้นฐานของการเลือกตั้ง" พร้อมยืนยันว่าทางสำนักงานฯ มีความมั่นใจอย่างสูงในความปลอดภัยและระะการเลือกตั้งที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพ

เจ้าหน้าที่ของ CISA เสริมว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ "เงียบกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อสองปีที่แล้ว แม้จะไม่ถึงกับไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นเลยก็ตาม"

เมื่อต้นเดือนนี้ ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนอเมริกัน 1,500 คน ซึ่งจัดทำโดย Economist/YouGov ชี้ให้เห็นว่า ชาวอเมริกันราว 51% เชื่อว่า มีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงที่คูหาเลือกตั้งต่าง ๆ และ ราว 51% เช่นกันที่เชื่อว่า จะมีการแทรกแซงโดยรัฐบาลต่างชาติ

ขณะที่ผลสำรวจของ YouGov เมื่อเดือนกรกฎาคม ชี้ว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม 32% ที่ไม่มั่นใจในผลการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้

ความกังวลเรื่องความรุนแรง

เจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิของสหรัฐฯ เริ่มแสดงความกังวลต่อภัยคุกคามและความรุนแรงในการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปีนี้ มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และมีรายงานความคืบหน้าของภัยคุกคามดังกล่าวใน National Terrorism Advisory System (NTAS) ในเดือนมิถุนายน

รายงานประเมินล่าสุดของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงสหรัฐฯ ระบุถึงภัยคุกคามจากปัจเจกบุคคลที่ไม่พอใจต่อรัฐบาลและตัดสินใจก่อเหตุด้วยตนเองคนเดียว ซึ่งเรียกว่า โลนวูล์ฟ (lone wolves) โดยอาจมีเป้าหมายที่โครงสร้างพื้นฐานด้านการเลือกตั้ง เช่น คูหาเลือกตั้ง กล่องใส่บัตรลงคะแนน เจ้าหน้าที่ประจำคูหา ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือแม้แต่ผู้ลงสมัครในแต่ละรัฐ

ไบรอัน ลิสตัน นักวิเคราะห์ข่าวกรองอาวุโสแห่งบริษัทด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ Recorded Future กล่าวกับวีโอเอว่า มีความพยายามในรูปแบบของการใช้สื่อสร้างอิทธิพลให้มีการใช้กำลังอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ มีการใช้ภาษาและรูปภาพทางการทหาร และมีการนำไปขยายผลโดยศัตรูของอเมริกา เช่น รัสเซีย

สำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ เอฟบีไอ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานการคุกคามเจ้าหน้าที่คูหาเลือกตั้งในสหรัฐฯ มากกว่า 1,000 กรณีตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดอย่างน้อย 6 ราย

การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ

มีความกังวลเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้

บริษัทด้านความมั่นคง Limbik พบว่า ปริมาณข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ที่ระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะถูกโกงหรือถูกขโมยผลนั้นเพิ่มขึ้นถึง 268% เมื่อเดือนที่แล้ว

ด้านองค์กรตรวจสอบ Common Cause กล่าวเมื่อวันอังคารว่า มีข้อความในลักษณะที่ระบุถึงข้อบกพร้องของเครื่องลงคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นผิดปกติ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะของทฤษฏีสมคบคิด ซึ่งเป็นการพยายามบ่งบอกว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการเลือกตั้งครั้งนี้

บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า ข้อมูลเท็จส่วนใหญ่ถูกเผยแพร่โดยบุคคลหรือกลุ่มองค์กรภายในประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เตือนว่ามีสัญญาณของความพยายามจากรัฐบาลต่างชาติที่เป็นศัตรูของสหรัฐฯ เช่น รัสเซีย จีนและอิหร่าน ที่ขยายผลเกี่ยวกับคำถามเรื่องความโปร่งใสของการเลือกตั้งในอเมริกาด้วยเช่นกัน

ภัยคุกคามทางไซเบอร์

บริษัทความมั่นคงทางไซเบอร์ Recorded Future เตือนว่า รัสเซียและจีนใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่เรื่องความแตกแยกทางการเมืองในอเมริกาก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ทางรัฐบาลจีนและรัสเซียต่างออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างแข็งขัน

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า รัสเซีย จีน หรืออิหร่าน อาจพยายามลอบโจมตีทางไซเบอร์เพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง เช่น โจมตีระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือเว็บไซต์ของรัฐบาลส่วนท้องถิ่น เป็นต้น รวมทั้งความกังวลว่าแฮกเกอร์อาจลอบเจาะล้วงเข้าไปที่ระบบลงคะแนนทางคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน

ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่ความมั่นคงสหรัฐฯ ต่างแสดงความมั่นใจต่อการป้องกันภัยคุกคามดังกล่าว

เจน อีสเตอร์ลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานความปลอดภัยทางไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐาน ชี้ว่า การที่เกิดปัญหาขึ้นนั้นมิได้หมายความว่าเกิดการโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด และว่า "จะมีปัญหาผิดพลาดทางเทคนิคเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่นั่นถือเป็นเรื่องปกติ"

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG