ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เกาหลีเหนือเดินออกจากการประชุมระดับผู้ปฏิบัติงานที่สตอกโฮล์ม – ทางตันหรือเทคนิคเดิม?


People watch a TV showing a file image of North Korean leader Kim Jong Un during a news program at the Seoul Railway Station in Seoul, South Korea, Oct. 2, 2019.
People watch a TV showing a file image of North Korean leader Kim Jong Un during a news program at the Seoul Railway Station in Seoul, South Korea, Oct. 2, 2019.
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:26 0:00

ตัวแทนฝ่ายเกาหลีเหนือเดินออกจากการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยหัวหน้าคณะผู้เจรจาของเกาหลีเหนือให้เหตุผลว่าผิดหวังมากที่ฝ่ายสหรัฐขาดความยืดหยุ่นและไม่มีข้อเสนอใหม่ให้พิจารณา

แต่โฆษกสตรีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐบอกปัดคำกล่าวหานี้ และยืนยันว่าฝ่ายสหรัฐนำแนวคิดใหม่ที่สร้างสรรค์เข้าสู่การประชุม และว่าทั้งสองฝ่ายคงไม่สามารถแก้ปัญหาจากสงครามและความเป็นปฏิปักษ์บนคาบสมุทรเกาหลีซึ้งดำเนินมานานถึง 70 ปีได้ในเวลาเพียงวันเดียว เพราะว่าเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งต้องการความมุ่งมั่นจากทั้งสองฝ่ายโดยสหรัฐนั้นมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่ว่านี้

ไม่ว่าท่าทีของทั้งสองฝ่ายจะเป็นอย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การที่เกาหลีเหนือตัดสินใจเดินออกจากการเจรจาครั้งล่าสุดที่สวีเดน เป็นเพียงการนำเทคนิคเก่ามาใช้เพื่อสร้างแรงกดดันต่อสหรัฐ แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่เกาหลีเหนืออาจเร่งใช้วิธีการยั่วยุมากขึ้นได้

ในการพบปะระหว่างผู้นำของสหรัฐกับเกาหลีเหนือที่กรุงฮานอยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ การประชุมระดับสุดยอดดังกล่าวต้องล้มเหลวหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธข้อเสนอของนายคิม จอง อึน ที่เสนอจะรื้อถอนสถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์สำคัญแห่งหนึ่งเพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการลงโทษของสหประชาชาติห้าข้อที่สร้างปัญหาหนักให้กับเศรษฐกิจของตน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังนี้ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะแสดงท่าทียืดหยุ่นมากขึ้น โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องมีวิธีใหม่ ทั้งยังได้ปลดที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติสายเหยี่ยวออกจากตำแหน่งด้วย

ทว่า นายคิม เมือง กิลกี่ หัวหน้าคณะผู้เจรจาของเกาหลีเหนือ กล่าวว่า เกาหลีเหนือรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากและทำให้หมดความต้องการที่จะเจรจาต่อไป

ขณะที่ปัญหาชะงักงันของการเจรจาอาจทำให้เกาหลีเหนือกลับมาใช้วิธียั่วยุได้อีกนั้น นายมินทาโร โอบะ อดีตนักการทูตสหรัฐผู้ช่ำชองเรื่องเกาหลีเหนือ บอกว่า เกาหลีเหนือเคยมีประวัติยาวนานเกี่ยวกับการใช้วิธีเจรจาแบบแข็งกร้าว และพร้อมจะใช้เทคนิคเพื่อยกเลิกหรือถอนตัวเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ

และเชื่อได้ว่าสิ่งที่ได้เห็นนั้นเป็นเรื่องที่ฝ่ายเกาหลีเหนือวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ไม่ใช่ปฏิกิริยาซึ่งเกิดขึ้นจากสถานการณ์ รวมทั้งไม่เชื่อว่าการหารือที่ล้มเหลวเมื่อวันเสาร์จะเป็นการพบปะทางการทูตครั้งสุดท้ายด้วย

ส่วนนายอีริค บรูเวอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ชี้ว่าการที่รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ไม่มีท่าทีตอบโต้ใด ๆ ต่อการทดลองขีปนาวุธหลายครั้งของเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมทั้งการทดลองขีปนาวุธพิสัยกลางเมื่อสัปดาห์ทื่แล้วที่สามารถใช้ยิงจากเรือดำน้ำได้นั้น ช่วยตอกย้ำให้ผู้นำเกาหลีเหนือเชื่อว่าตนกำลังเป็นผู้คุมเกมการเจรจาอยู่

และนาย คิม จอง อึน ยังเชื่อด้วยว่าตนสามารถพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นได้โดยปราศจากผลเสียหรือการลงโทษใด ๆ และกำลังรอข้อเสนอที่ดีกว่าจากฝ่ายสหรัฐ หรือโอกาสที่จะได้พบกับประธานาธิบดีทรัมป์แบบตัวต่อตัวอีกครั้งหนึ่ง

ทัศนะที่ว่านี้ดูจะเป็นเรื่องที่นายแวน แจคสัน อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐเห็นด้วย โดยเขาเชื่อว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้นายคิม จอง อึน ต้องเป็นฝ่ายอ่อนข้อหรือผ่อนปรนให้กับรัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ และว่าท่าทีของผู้นำสหรัฐที่แสดงว่าอยากจะพบปะแบบตัวต่อตัวกับนายคิม จอง อึน อีกครั้งนั้น ได้สร้างปัญหาข้อจำกัดให้กับเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติงานของสหรัฐในการผลักดันเรื่องต่าง ๆ สำหรับการเจรจารายละเอียดของข้อตกลง

หลังจากที่เกาหลีเหนือเดินออกจากการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่เมื่อวันเสาร์แล้ว รัฐบาลสวีเดนได้เชิญให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปหารือกันอีกในสองสัปดาห์ต่อจากนี้ และขณะที่ฝ่ายสหรัฐยอมรับคำเชิญของสวีเดนนั้น เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐบาลกรุงเปียงยางกล่าวว่าตนไม่มีแผนจะเจรจากับสหรัฐอีกต่อไป จนกว่าสหรัฐจะยอมยุตินโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตน

XS
SM
MD
LG