ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ประธานาธิบดีทรัมป์' กับความเสี่ยงจากความโน้มเอียงที่จะไม่พูดหรือทำตามบท


U.S. President Donald Trump delivers remarks on "combatting the opioid crisis" in a speech at Manchester Community College in Manchester, New Hampshire, March 19, 2018.
U.S. President Donald Trump delivers remarks on "combatting the opioid crisis" in a speech at Manchester Community College in Manchester, New Hampshire, March 19, 2018.

พรรคเดโมแครตมองว่านิสัยส่วนตัวของผู้นำสหรัฐฯ จะช่วยกระตุ้นฐานเสียงของตนสำหรับการเลือกตั้งกลางเทอม

ระหว่างการปราศรัยที่รัฐ West Virginia ซึ่งเป็นฐานคะแนนสำคัญเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โยนร่างคำปราศรัยที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเตรียมให้เกี่ยวกับนโยบายปฏิรูประบบภาษีทิ้งไป โดยกล่าวว่า ร่างคำปราศรัยที่เจ้าหน้าที่เตรียมมานี้ถ้าตนอ่านคงจะใช้เวลาราว 2 นาที แต่ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อมากที่เดียว

เรื่องนี้ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ยอมทำหรือพูดตามบท และมักทำตามแรงกระตุ้นตามใจ เพื่อเอาใจกลุ่มคนที่เป็นฐานคะแนนของตนอย่างเหนียวแน่นมากกว่า

รวมทั้งเพื่อพยายามทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งด้วย

และนอกจากเรื่องการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน การส่งหน่วยทหารของรัฐต่างๆ ไปประจำการเพื่อรักษาความปลอดภัยที่พรมแดนด้านเม็กซิโก ขณะที่ยังไม่มีการสร้างแนวกำแพงอย่างแท้จริง และการประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนทหารออกจากซีเรียในไม่ช้า ถึงแม้ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงหลายคนจะมีท่าทีตรงกันข้าม ก็ดูจะเป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งของการไม่ยอมจำกัดตัวเองให้อยู่ตามบทของประธานาธิบดีทรัมป์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์แลร์รี ซาบาโต (Larry Sabato) ผู้สอนวิชารัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเวอร์จิเนีย ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ดูจะเชื่อว่าตนสามารถบริหารงานของรัฐบาลกลางได้ผ่านทางบัญชีทวิตเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศนโยบายใหม่ หรือการสั่งปลดผู้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อย่างเช่น นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ตาม

และนายจอห์น ฟอร์ทิเยร์ (John Fortier) นักวิเคราะห์จากศูนย์ศึกษานโยบาย Bipartisan Policy Center ชี้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์อาศัยจุดแข็งของตัวเองในฐานะคนนอกที่ไม่ใช่นักการเมืองมืออาชีพ ซึ่งให้คำมั่นสัญญาอย่างอุกอาจระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และสัญญาว่าตนจะเป็นผู้สร้างความปั่นป่วนและเปลี่ยนแปลงระบบที่มีอยู่เดิม ไม่ใช่เป็นผู้เดินตามระบบ

อย่างไรก็ตาม พรรคเดโมแครตซึ่งเป็นฝ่ายค้านในรัฐสภาขณะนี้ เชื่อว่าสไตล์หรือรูปแบบการบริหารและการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งไม่อยู่กับร่องกับรอย จะเป็นโอกาสให้ทางพรรคชนะเลือกตั้งกลางเทอมและได้เสียงมากขึ้นในรัฐสภาได้

โดยคุณเคน กูดดี (Ken Gude) นักวิเคราะห์จาก Center for American Progress เชื่อว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทำในสิ่งที่พรรคเดโมแครตไม่ได้เห็นมาเป็นเวลานานแล้ว นั่นคือการสร้างความขุ่นเคืองไม่พอใจ และเรื่องนี้ก็จะเป็นแรงกระตุ้นจูงใจสำคัญที่ช่วยระดมฐานเสียงของพรรคให้ออกมาใช้สิทธิ์มากขึ้นในการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับมลรัฐ และระดับรัฐบาลกลางด้วย

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเวลาปีเศษ คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เคยขึ้นถึงระดับเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เลย โดยในบางช่วงคะแนนนิยมดังกล่าวก็ลดลงต่ำอยู่ในเกณฑ์ 37-38 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ

และถึงแม้ขณะนี้ คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีทรัมป์จะกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่า คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ไม่มากพอ รวมทั้งประวัติการมักเสียที่นั่งของพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งกลางเทอม จะเป็นผลให้พรรครีพับลิกันต้องเสียที่นั่งในสภาฯ มากกว่าที่เคยคาดไว้แต่เดิม

XS
SM
MD
LG