ลิ้งค์เชื่อมต่อ

"สหรัฐฯ - อินเดีย - ญี่ปุ่น - ออสเตรเลีย" จัดตั้งภาคี 4 ประเทศ ต้านอำนาจจีนในทะเลจีนใต้


a U.S. Navy SH-60 Seahawk helicopter approaches to land on the deck of U.S. aircraft carrier, USS George Washington (CVN-73) with the backdrop of U.S. navy destroyer USS John S. McCain (DDG-56).
a U.S. Navy SH-60 Seahawk helicopter approaches to land on the deck of U.S. aircraft carrier, USS George Washington (CVN-73) with the backdrop of U.S. navy destroyer USS John S. McCain (DDG-56).
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:06 0:00

ประเทศมหาอำนาจ 4 ประเทศ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ร่วมจัดตั้งภาคี 4 ประเทศ ขึ้นมาเพื่อต้านทานอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ โดยคาดว่าจะมีคำแถลงของกลุ่มดังกล่าวออกมาในเร็ววันนี้ ในเรื่องการช่วยเหลือด้านการทหารและซ้อมรบร่วมกับประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้

ภาคี 4 ประเทศ หรือ The Quad ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย มีเป้าหมายร่วมกันคือการทำให้ทะเลจีนใต้มีเสรีภาพสูงสุดสำหรับการเดินเรือ ท่ามกลางการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในแถบนี้

นักวิเคราะห์เชื่อว่า กลุ่มดังกล่าวจะให้ความช่วยเหลือด้านการทหารและซ้อมรบร่วมกับประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้

ศาสตราจารย์ สจ๊วร์ต ออร์ (Stuart Orr) แห่งมหาวิทยาลัย Deakin ในออสเตรเลีย เชื่อว่า สหรัฐฯ จะรับหน้าที่หลักในการจัดหาความช่วยเหลือทางทหารดังกล่าว รองลงมาคือ อินเดีย ขณะที่ญี่ปุ่นและออสเตรเลียจะคอยให้ความช่วยเหลือด้านยุทธศาสตร์และการขนส่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศตนในทะเลแห่งนี้

ผู้นำทั้ง 4 ประเทศได้พบหารือเรื่องการจัดตั้งภาคี 4 ประเทศระหว่างการประชุมที่กรุงมะนิลา เมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยทั้งญี่ปุ่นและออสเตรเลียออกมากล่าว ขอให้ทุกประเทศเคารพสิทธิของกันและกันตามกฎหมายการเดินเรือสากล

และเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว อินเดียประกาศเสนอความช่วยเหลือและความร่วมมือต่างๆ ให้กับสมาชิกสมาคมอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์บางส่วนในทะเลจีนใต้ 4 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมาเลเซีย

คุณ เบน โฮ (Ben Ho) นักวิเคราะห์จาก S.Rajaratnum School of International Studies ในสิงคโปร์ กล่าวว่า สิ่งที่ภาคี 4 ประเทศนี้สามารถทำได้ คือการจัดทำแถลงการณ์ว่าด้วยการจัดการข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างเฉพาะเจาะจง โดยอาจไม่ต้องระบุชื่อประเทศจีนไว้ในแถลงการณ์นั้น

ที่ผ่านมา ภายใต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯ ได้ส่งเรือลาดตระเวนเดินทางผ่านพื้นที่ในความขัดแย้งในทะเลจีนใต้มาแล้ว 5 ครั้ง เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางทะเลของกองทัพสหรัฐฯ และประกาศเสรีภาพในการเดินเรือในแถบนี้

ซึ่งอาจารย์ โอ ยี ซุน (Oh Ei Sun) แห่งมหาวิทยาลัย Nanyang ในสิงคโปร์ ชี้ว่า ญี่ปุ่นอาจเป็นประเทศต่อไปที่ส่งเรือลาดตระเวนลักษณะเดียวกัน ภายใต้การอ้างภารกิจของกลุ่ม The Quad รวมทั้งการเข้าร่วมซ้อมรบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้มากขึ้น

โดยเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ญี่ปุ่นได้ส่งเฮลิคอปเตอร์บินผ่านน่านน้ำที่จีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์มาแล้วด้วย

ในส่วนของอินเดียและออสเตรเลีย นักวิเคราะห์เชื่อว่าจะทำหน้าที่สอดส่องและจับตามองพฤติกรรมของจีนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งเคลื่อนไหวทางการทหารเพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลกรุงปักกิ่งด้วย

ในส่วนของการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ คุณสตีเฟ่น นากีย์ (Stephen Nagy) แห่ง International Christian University ในกรุงโตเกียว เชื่อว่า ญี่ปุ่นจะช่วยเสริมศักยภาพทางทหารของบรรดาเพื่อนบ้านในเอเชียต่อไป รวมทั้งการซ้อมรบและอบรมด้านการทหารร่วมกับกองทัพเวียดนามภายในปีนี้ ขณะที่สหรัฐฯ ก็แสดงความประสงค์อย่างชัดเจนว่าพร้อมจะปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของเวียดนามเช่นกัน

ส่วนอินเดียก็ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเวียดนามในการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้เช่นกัน

สำหรับการตอบโต้ของจีนที่มีต่อภาคี 4 ประเทศนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่าปักกิ่งน่าจะใช้กลยุทธ์การตอบโต้เป็นรายประเทศ ซึ่งอาจรวมถึงการกดดันทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบัน จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของออสเตรเลีย นอกจากนี้อีก 3 ประเทศที่เหลือ คือ อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ก็ยังต้องพึ่งพาจีนในทางเศรษฐกิจไม่น้อยเช่นกัน

(ผู้สื่อข่าว Ralph Jennings รายงานจากไต้หวัน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG