ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ระบบสอดส่องติดตามของประเทศคู่พิพาท ช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในทะเลจีนใต้


FILE - China's Liaoning aircraft carrier with accompanying fleet conducts a drill in an area of South China Sea, in this photo taken December 2016.
FILE - China's Liaoning aircraft carrier with accompanying fleet conducts a drill in an area of South China Sea, in this photo taken December 2016.

ทะเลจีนใต้มีปัญหาโจรสลัดและการก่อการร้ายน้อยกว่าท้องทะเลอื่น

ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าซึ่งมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของโลก โดยเมื่อสองปีที่แล้วมีสินค้าต่างๆ ที่เดินทางผ่านทะเลจีนใต้คิดเป็นมูลค่าถึงราว 3.37 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะนี้มีรัฐบาลของหกประเทศคือ จีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน ที่อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองพื้นที่บางส่วนหรือทั้งหมดของทะเลจีนใต้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ถึงแม้พื้นที่ราว 3,500,000 ตารางกิโลเมตรของทะเลจีนใต้ จะเป็นกรณีพิพาทของหลายประเทศอยู่ในขณะนี้ก็ตาม แต่ระบบการสอดส่องติดตามการเดินเรือที่ทันสมัยสามารถช่วยตรวจจับอุบัติเหตุทางทะเล และประเทศซึ่งมีกรณีพิพาทกันอยู่ก็มักยื่นมือให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น

อาจารย์ Oh Ei Sun ผู้สอนวิชาการต่างประเทศของมหาวิทยาลัย Singapore Nanyang ได้ชี้ว่า ถึงแม้ความร่วมมือระหว่างประเทศคู่พิพาทเหล่านี้จะเกิดขึ้นชั่วคราวในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องดี

ส่วนอาจารย์ Huang Kwei-bo รองคณบดีของคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย National Chengchi ในกรุงไทเป กล่าวว่า การที่ประเทศคู่พิพาทมีความหวาดระแวงเรื่องการล่วงล้ำเขตแดนของตน และเพิ่มมาตรการสอดส่องติดตามเหตุการณ์ทางทะเลนั้น ก็เป็นข่าวดีเช่นกัน

เพราะผลก็คือเหตุการณ์ก่อการร้าย รวมทั้งโจรสลัดในบริเวณทะเลจีนใต้ มีน้อยกว่าในท้องทะเลแห่งอื่นๆ ของโลก

ตามข้อมูลขององค์การศึกษาวิเคราะห์นโยบายชื่อ Asia Maritime Transparency Initiative นั้น จีนซึ่งเป็นประเทศที่เข้มแข็งที่สุดและอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองในทะเลจีนใต้มากที่สุด มักส่งเรือยามฝั่งเพื่อลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ และขณะนี้รัฐบาลกรุงปักกิ่งก็กำลังสร้างระบบเรดาร์บนเกาะเล็กๆ สามแห่งของหมู่เกาะสแปรตลีย์ รวมทั้งมีแผนจะส่งดาวเทียมสังเกตการณ์อีก 10 ดวง เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ จากทะเลจีนใต้ในช่วงปี 2562 ถึง 2564 นี้ด้วย

อาจารย์ Huang Kwei-bo รองคณบดีของคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย National Chengchi ในกรุงไทเป ยังเสริมด้วยว่าคาดว่าความตกลงเรื่องแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้หรือ Code of Conduct ซึ่งจีนจะเจรจากับสมาคมอาเซียนในปีนี้ จะมีการปรับแต่งแนวทางดำเนินงานเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งเรื่องการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินทางทะเลด้วย โดยไม่แตะต้องถึงเรื่องอำนาจอธิปไตยและการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนซึ่งเป็นกรณีพิพาทพื้นฐาน ทั้งยังคาดว่าจะครอบคลุมถึงเรื่องความร่วมมือเพื่อบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมเช่นกัน

โดยอาจารย์ Huang Kwei-bo ชี้ว่า ความร่วมมือเพื่อบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมในทะเลจีนใต้นี้ จะเป็นเรื่องที่ประเทศคู่กรณีสามารถทำให้เกิดผลสำเร็จขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว ก่อนที่จะหารือทำความตกลงในเรื่องอำนาจอธิปไตยรวมทั้งประเด็นปัญหาอื่นๆ ในทะเลจีนใต้ต่อไป

XS
SM
MD
LG