ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอเมริกันถึงมือคนไทยในสหรัฐฯ ฝ่าวิกฤติโควิด-19


Ploysong Chaichoochote Chapman, a 33-year-old Thai real estate salesperson in Syracuse, New York
Ploysong Chaichoochote Chapman, a 33-year-old Thai real estate salesperson in Syracuse, New York

วันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา เป็นวันที่ผู้ที่มีถิ่นพำนักในสหรัฐฯ กว่า 80 ล้านคนได้รับเงินช่วยเหลือจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic Impact Payment) จากวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ โดยทางกรมสรรพากรของสหรัฐฯ ได้โอนเงินดังกล่าวโดยตรงเข้าบัญชีธนาคารของผู้เสียภาษีในช่วงสองปีล่าสุด

ทั้งนี้ ผู้ที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 75,000 ดอลลาร์ (ราว 2.4 ล้านบาท) ต่อปี จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,200 ดอลลาร์ (ราว 38,900 บาท) ต่อคน และหากมีบุตรหรือพี่น้องที่อายุไม่เกิน 17 ปี จะได้รับเพิ่มอีก 500 ดอลลาร์ (ราว 16,200 บาท) ต่อคน และหากมีรายได้ระหว่าง 75,000 ดอลลาร์ และ 99,000 ดอลลาร์ (ราว 3.2 ล้านบาท) จะได้รับเงินช่วยเหลือลดหลั่นลงไป โดยผู้ที่มีรายได้มากกว่า 99,000 ดอลลาร์ต่อปี จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือในส่วนนี้

Chanakan Prachantawanich, a 35-year-old Thai casino card dealer in Los Angeles, California
Chanakan Prachantawanich, a 35-year-old Thai casino card dealer in Los Angeles, California

ชนกาณ ประจันตวนิช พนักงานคาสิโนวัย 35 ปี ที่อาศัยในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย และคู่สมรสชาวไทย-อเมริกันของเธอ ได้รับเงินช่วยเหลือรวมกัน 2,400 ดอลลาร์ (ราว 77,900 บาท) ซึ่งชนกาณวางแผนเก็บเงินส่วนนี้ไว้ เพราะเธอได้รับเงินช่วยเหลือจากกรมพัฒนาการจ้างงาน (Employment Development Department) สำหรับผู้ที่ชั่วโมงการทำงานได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสด้วยอีกต่างหาก ซึ่งเธอบอกว่า เป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว

Mashima Button, a 29-year-old Thai student and part-time programmer in Melbourne, Florida
Mashima Button, a 29-year-old Thai student and part-time programmer in Melbourne, Florida

ทางด้านมัชฌิมา บัทเทิน นักเรียนและโปรแกรมเมอร์พาร์ทไทม์วัย 29 ปีจากเมืองเมลเบิร์น รัฐฟลอริดา และสามีชาวอเมริกันของเธอ ก็ได้รับเงินช่วยเหลือรวมกัน 2,400 ดอลลาร์เช่นกัน โดยมัชฌิมาวางแผนว่าจะนำเงินครึ่งหนึ่งไปปรับปรุงบ้านและอีกครึ่งหนึ่งจะเก็บออม มัชฌิมากล่าวว่าเงินจำนวนดังกล่าวทำให้ “หายใจคล่องขึ้น” สำหรับการอาศัยในเมืองที่มีค่าครองชีพไม่สูงมากนัก

Sonya Pitiwan, a 34-year-old Thai housewife in Los Angeles, California
Sonya Pitiwan, a 34-year-old Thai housewife in Los Angeles, California


อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้ชีวิตครอบครัวในเมืองใหญ่อย่างนครลอสแอนเจลิสนั้น ซอนญา ปิติวรรณ แม่บ้านวัย 34 ปี ที่ครอบครัวของเธอประกอบด้วยสามีชาวไทยและบุตรสาวหนึ่งคน ได้รับเงินช่วยเหลือรวมกัน 2,900 ดอลลาร์ (ราว 94,200 บาท) เธอเห็นว่าเงินจำนวนดังกล่าว “พอประทังไปได้” เพราะคงเพียงพอสำหรับการจ่ายค่าเช่าบ้านเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น

Ploysong Chaichoochote Chapman, a 33-year-old Thai real estate salesperson in Syracuse, New York
Ploysong Chaichoochote Chapman, a 33-year-old Thai real estate salesperson in Syracuse, New York

ทางด้านพลอยส่อง ชัยชูโชติ แชปแมน นายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์วัย 33 ปีจากเมืองซีราคิวส์ รัฐนิวยอร์ก ที่ครอบครัวของเธอ ประกอบด้วยสามีชาวอเมริกันและบุตรสาวหนึ่งคน ก็ได้รับเงินรวมกัน 2,900 ดอลลาร์เช่นกัน โดยพลอยส่องกล่าวว่า เงินจำนวนนี้แม้จะถือว่าดีแต่ก็ “ไม่เยอะเลย” เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างเช่น เงินในส่วนของบุตรสาวที่ได้ 500 ดอลลาร์นั้น จะพอเป็นค่าใช้จ่ายให้สถานรับเลี้ยงเด็กเพียง 2 สัปดาห์กว่าเท่านั้น

ทางวีโอเอไทยยังพบด้วยว่า มีคนไทยหลายคนที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว โดยเหตุผลส่วนใหญ่คือ ยื่นภาษีคู่กับคู่สมรสที่เป็นชาวอเมริกันและมีรายได้รวมกันเกินเกณฑ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ยื่นภาษีในสหรัฐฯ ในช่วงสองปีล่าสุด แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลบัญชีธนาคารกับทางกรมสรรพากรสหรัฐฯ สามารถกรอกข้อมูลการโอนเงินผ่านทางแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือกับกรมสรรพากรได้ หรือไม่เช่นนั้นอาจต้องรอรับเงินช่วยเหลือในรูปแบบของเช็คแผ่นกระดาษที่จะมีลายเซ็นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทางกรมจะเริ่มส่งทางไปรษณีย์ก่อนช่วงสิ้นเดือนนี้

สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี คือไม่เกิน 12,200 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 396,000 บาท) ก็มีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือเช่นกัน แต่จะต้องกรอกข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรเพื่อเข้าถึงการช่วยเหลือดังกล่าว

รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai

XS
SM
MD
LG