ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กุลภัทร ยันตรศาสตร์ – สถาปนิกไทย ที่ใช้ใจออกแบบ


Kulapat_1
Kulapat_1
Kulapat Architect
please wait

No media source currently available

0:00 0:06:20 0:00


ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ถูกยกให้เป็นวันสถาปนิกโลก ซึ่งที่ประเทศสหรัฐฯ มีสถาปนิกไทยท่านหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงด้วยการออกแบบพิพิธภัณฑ์และสถานที่สำคัญไว้หลายแห่ง วันนี้เราจะได้ทำความรู้จักกับ คุณกุลภัทร ยันตรศาสตร์ กับมุมมองและวิธีคิดของสถาปนิกที่มีโอกาสได้ทำงานในระดับโลก

Kulapat_2
Kulapat_2

ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา สถาปัตยกรรมระดับโลกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ อาคารสาธารณะ หรือแม้แต่งานด้านภูมิสถาปัตยกรรม ได้ผ่านการกลั่นกรองและสร้างสรรค์จากบริษัทสถาปัตย์ที่ชื่อว่า “wHY” โดยบริษัทนี้มีสาขาทั้งในมหานครนิวยอร์กและมหานครลอสแอนเจลีส

เหมือนกับว่าถ้าไม่ใช่เรื่องของอดีต ก็จะเป็นเรื่องของปัจจุบัน แต่ว่าปัจจุบันไม่ใช่ปัจจุบันของเราเอง มันเป็นปัจจุบันที่เราไปรับเอาของเขามา … เพราะว่าประเทศตะวันตกเขามีปัญหาไม่เหมือนเรา


ผู้ก่อตั้งบริษัทนี้คือคุณกุลภัทร ยันตรศาสตร์ สถาปนิกไทยที่มีโอกาสได้ไปรังสรรค์งานระดับโลก รวมถึงพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่ได้รับรางวัลด้านการใช้พลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง LEED Gold Certification ในปี พ.ศ. 2551 จากการออกแบบพิพิธภัณฑ์ Grand Rapids Art Museum ในรัฐมิชิแกน ซึ่งถือเป็นโครงการใหญ่ที่สุดที่คุณกุลภัทรได้มีส่วนร่วม โดยใช้งบราว 72 ล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 2,160 ล้านบาท

“งานพิพิธภัณฑ์แรกของเราก็คืองานพิพิธภัณฑ์ Grand Rapids Art Museum ในมิชิแกน เปิดปี 2007 ประการแรกคือมันเป็นพิพิธภัณฑ์งานแรกของเรา เราทำเองเสร็จ และก็ประการที่สอง เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมคือได้ LEED Gold เป็นพิพิธภัณฑ์อันแรกของโลก นอกจากเรื่องของความสวยงาม ศิลปะ เป็นเรื่องของเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย พอพิพิธภัณฑ์อันนี้เสร็จก็เริ่มมีคนมาจ้าง ทำให้เกิดงานใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญในอาชีพของผมที่อเมริกา...ตอนนี้ที่ทำก็มีหลายอัน อย่างอันหนึ่งที่ค่อนข้างใหญ่และมีความสำคัญอยู่ที่ Metropolitan Museum ที่นิวยอร์ก ทำ Renovation (ปรับปรุง) ตึกกลุ่มหนึ่งที่ชื่อ Rockefeller Wing ที่สร้างภายในปี 1970 และเปิดในปี 1980 อันนี้เราก็เอามาทำมาแก้ใหม่หมดเลย...อีกอันหนึ่งเราก็ทำเป็น Opera House อยู่ที่รัสเซีย ใหญ่มาก มีทั้งตัว Opera House ด้วยและ Ballet School ในขณะเดียวกันก็มีการออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรมรอบๆ ซึ่งเป็นเรื่องของเมืองใหม่ เรื่องของ Urban Design (การผสมด้านสถาปัตย์ ผังเมืองและภูมิสถาปัตยกรรม)”

Grand Rapid Art Museum_2
Grand Rapid Art Museum_2

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณกุลภัทรได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ที่ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว

เมื่อวีเอโอไทยถามถึงมุมมองที่เขามีต่องานด้านสถาปัตย์ในประเทศไทย คุณกุลภัทรมองเห็นการออกแบบที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ แต่หลายครั้งที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานจริง

“อย่างผมโตอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่แถวสุขุมวิท เราก็รู้สึกว่าอาคารที่เราเห็น ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม ตั้งแต่อยู่ปริญญาตรีที่จุฬาฯ ก็รู้สึกว่าทำไมงานบ้านเรา อีกแบบก็บ้านแบบไทยจ๋าไปเลย...อีกด้านหนึ่งก็เป็นตึกสูง ซึ่งก็เป็นตึกกระจกอย่างเดียว ก็ร้อน ก็ไม่ค่อยจะเข้ากับสังคมบ้านเรา เหมือนกับว่าถ้าไม่ใช่เรื่องของอดีต ก็จะเป็นเรื่องของปัจจุบัน แต่ว่าปัจจุบันไม่ใช่ปัจจุบันของเราเอง มันเป็นปัจจุบันที่เราไปรับเอาของเขามา … เพราะว่าประเทศตะวันตกเขามีปัญหาไม่เหมือนเรา”

อย่างไรก็ดีคุณกุลภัทรมองว่าเรื่องของศิลปะเป็นสิ่งที่ปัจเจก เขาเชื่อว่าบทบาทของสถาปนิกเป็นได้มากกว่าคนที่แต่งเติมความสวยงามให้สิ่งปลูกสร้าง ในทัศนะของเขา งานสถาปัตย์สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมในฐานะ Thought Leader หรือผู้นำทางความคิด

“เรื่องที่ดีกับที่แย่เป็นเรื่องที่เฉพาะบุคคล ก็แล้วแต่คนจะคิดแบบไหน สุดท้ายแบบที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์มันก็คงไม่มี หรือที่แย่หมดมันก็คงไม่มี ทุกอย่างเป็นแบบผสมหรือเกี่ยวพันกันหมด แต่สำหรับผมถ้าพูดถึงสถาปัตย์ที่ดี จำเป็นที่จะต้องเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำให้คนมีศักยภาพในชีวิต ทุกคนมีศักยภาพ สถาปนิก ตัวสถาปัตยกรรมควรจะส่งเสริม หรือว่าสนับสนุนให้คนสามารถใช้ชีวิตอย่างที่เขาอยากจะใช้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องบอกกับเขาว่าต้องใช้ชีวิตแบบไหน… คนทั่วไปก็อาจมองว่าสถาปนิกก็แค่ทำเรื่องความสวยงาม ไม่มีการแก้ปัญหาระดับลึก ไม่มีการแก้ปัญหาระดับสังคมต่างๆ แต่ความจริงแล้ววิธีที่เราเรียนมา วธีคิดเราสามารถจะแก้ปัญหาได้ ... Thought Leader คืออะไร คือคนที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาสังคมร่วมกับคนอื่นด้วย …แทนที่จะว่าคิดปลายน้ำ คือเราพยายามจะขึ้นไปต้นน้ำ”

The Metropolitan Museum of Art
The Metropolitan Museum of Art

หลายคนอาจจะมองว่าการเป็นสถาปนิคระดับโลก จะต้องมีกระบวนความคิดที่ซับซ้อน และอ้างอิงข้อมูลความรู้ที่มากมาย ซึ่งคุณกุลภัทรเองไม่ได้ปฏิเสธตรงจุดนี้ แต่เขาชี้ว่าสุดท้ายแล้วการถามใจตัวเองคือสิ่งที่สำคัญ

“การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีก็จำเป็นต้องใช้ความรู้ส่วนนอก แต่ส่วนมากแล้วในความคิดของผมคือ ผมใช้ความรู้ภายใน ถ้าเราถามใจตัวเอง ถามสมองตัวเองว่า บ้านแบบไหนอยากอยู่ แบบไหนอยู่สบาย พิพิธภัณฑ์แบบไหนเหมาะสมกับคนและงานศิลปะ หลายๆอย่างมันทำให้งานของเราออกมาได้ดี เพราะเราถามใจตัวเอง...มากกว่าการจะไปรับจากของข้างนอกเข้ามา พยายามเลียนแบบ หรือจะพยายามออกแบบในแบบที่ไม่ได้ออกมาจากตัวของเราเองเป็นเรื่องที่สำคัญ”

เมื่อคุยเรื่องอิทธิพลของโลกโซเชียลต่องานออกแบบในวันนี้ คุณกุลภัทรเปรียบเทียบงานสถาปัตย์กับรสชาติของอาหาร ที่หลายคนมักตัดสินจากรูปถ่ายว่ารสชาติเป็นอย่างไร และบอกทันทีว่าอร่อยหรือไม่ แม้จะไม่เคยได้ลิ้มรสจริงๆ เขามองว่าสิ่งนี้คือพฤติกรรมที่รู้กว้างแต่ไม่ลึก

“เรื่องของโซเชียลมีเดียมันทำให้รู้หลากหลาย รู้กว้างได้ แต่รู้ลึกก็ไม่ได้ ปัญหาที่สำคัญคือทุกคนจะเสพงานศิลปะ งานสถาปัตยกรรมผ่านสื่อ อย่างคนส่วนมากพอถามว่าเคยไปดูพิพิธภัณฑ์ที่นี่ไหม เขาก็จะบอกว่าไม่เคยไป..แต่สามารถตัดสินใจได้เลยว่าชอบหรือไม่ชอบ มันเหมือนกับอาหาร ขณะที่เรายังไม่เคยไปกิน เห็นรูปที่คนอื่นถ่ายมา เราก็ตัดสินใจเลยว่าอร่อย ไม่อร่อย คือมันเป็นไปไม่ได้ ...แต่ปัญหาตอนนี้คือว่าทุกคนอยากมีความเข้าใจเยอะๆ อยากจะรู้ไปหมด แต่ว่ารู้ไม่ลึก เห็นงานสถาปัตยกรรมในโลกโซเชียลมีเดียก็ตัดสินใจได้เลยว่าอันนี้เก๋ อันนี้ไม่เก๋ ตัวเองก็ยังไม่เคยไป...การรู้มากแต่รู้ไม่ลึก อันตรายมาก เพราะมันไม่มีราก...โดยเฉพาะคนที่มีความรับผิดชอบในการสร้างสรรค์ต้องรู้ลึกพอสมควร”

Tchaikovsky Academy Opera and Ballet Theatre_02
Tchaikovsky Academy Opera and Ballet Theatre_02

แม้สถาปนิกท่านนี้จะออกแบบสิ่งปลูกสร้างระดับโลกมามากมาย แต่เมื่อถามถึงความฝันที่อยากทำ แต่ไม่เคยมีโอกาส เขาเผยความคิดที่ไม่เคยบอกใคร กับโปรเจคในฝัน บ้านพักคนชราที่เต็มไปด้วยความสุข บทสรุปของชีวิตที่คู่ควรแก่การเฉลิมฉลอง

“หลังๆ คืออยากจะพูดถึงเรื่องที่อยู่ของคนชรา เราก็คิดมาประมาณสัก 10 ปีได้แล้ว มันเป็นอะไรที่สำคัญในชีวิตของเราเอง เรื่องความตายก็เป็นเรื่องเชิงลบ การเกิดเป็นเรื่องของการเฉลิมฉลอง การตายเป็นเรื่องของการสูญเสีย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องจริง เพราะว่าไม่มีใครอยากจะตาย …แต่มันก็เป็นเรื่องความจริงของชีวิต ทุกคนต้องตายหมด จะตายเร็วตายช้าอีกเรื่องหนึ่ง ผมเลยรู้สึกว่าการออกแบบที่พักของคนชรา ทำไมเราไม่เน้นการเฉลิมฉลองในการมีชีวิต หมายความว่าถ้าชีวิตเราอยู่มาเกิน 70ปี 80ปี เราควรจะฉลองได้แล้ว...ที่พักคนชราแบบนี้น่าสนใจ คือทำให้รู้สึกว่าเข้าใจตัวเองด้วย...เรื่องของสังคมคนชราด้วยกัน ไม่ใช่ว่าไปรอความตายอยู่ แต่เน้นเรื่องการเฉลิมฉลองของชีวิต(ที่ผ่านมา)”

หลายครั้งที่ความสวยงามของงานสถาปัตย์มักจะซุกซ่อนบางสิ่งเอาไว้ บางทีอาจจะเป็นประโยชน์ด้านการใช้สอย หรือบางครั้งอาจจะเป็นความหมายเล็กๆน้อยๆ ที่อาจจะทำให้เราได้ฉุกคิด เข้าใจตัวเอง เข้าใจสังคม ที่สำคัญเข้าใจธรรมชาติและชีวิตได้มากยิ่งขึ้น

XS
SM
MD
LG