ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คุยกับ “คุณแนนซี่ สุวรรณมณี” ในวันที่โควิดรุมเร้าอสังหาฯ


Nancy Suvarnamani
Nancy Suvarnamani

โควิด-19 กำลังส่งผลให้หลายธุรกิจต้องมีการปรับตัว เช่นเดียวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สำหรับคุณ นุชนาฏ สุวรรณมณี หรือคุณแนนซี่ ผู้ที่คลุกคลีในแวดวงอสังหาฯมากว่า 30 ปี เธอบอกว่าสถานการณ์ภายใต้การแพร่ระบาดนี้ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องผ่านพ้นไปให้ได้

Nancy Suvarnamani
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:39 0:00

ภายใต้วิกฤติโควิด-19 หนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่กำลังถูกจับตาคือ “อสังหาริมทรัพย์” แม้วันนี้ผลกระทบจะยังไม่ชัดเจนหรือรุนแรง แต่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าผลพวงจากชีวิตวิถีใหม่จะผลักดันให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขับเคลื่อนไปในทิศทางใดในอนาคต

วีโอเอไทยมีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณนุชนาฏ สุวรรณมณี หรือคุณแนนซี่ ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการอสังหาฯ มามากกว่า 30 ปี เธอบอกว่าวิกฤตินี้ ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญในชีวิตตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์

Nancy Suvarnamani
Nancy Suvarnamani

“ตอนที่มาที่นี้ เรียนจบเชียงใหม่มา แล้วมาต่อสองปริญญาโทที่อเมริกา…อยากจะรวยก็เลยลาออกจากงานประจำ มาเปิดบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของตนเอง ตอนนี้ก็เปิดมา 30 ปีแล้ว มี 3 สาขา และมีโบรคเกอร์ทำงานด้วย 120 คน”

ปัจจุบัน คุณแนนซี่ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท Century 21 S.G.R ที่ตั้งในเมืองชิคาโก้ แม้จะอยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร แต่เธอก็ยังคงทำหน้าที่พูดคุยกับลูกค้าในฐานะตัวแทนซื้อขายไม่ต่างจากโบรกเกอร์คนอื่น

“ในช่วงนี้คนซื้อบ้านก็ กังวลกันหมด... พรุ่งนี้จะมีงานทำอยู่หรือเปล่า … มันก็ลำบาก เศรษฐกิจก็ไม่เหมือนเดิม … ทุกอย่างก็สะดุดไปหมดเลย” คุณแนนซี่เล่าถึงภาพรวมว่าตอนนี้ธุรกิจไม่ราบรื่นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19

Nancy Suvarnamani
Nancy Suvarnamani

“ธุรกิจของคนไทยก็ไม่เหมือนเดิม...เจ้าของกิจการก็ดำเนินธุรกิจไม่ได้...ส่วนกลุ่มที่ทำงานธรรมดาอย่าง หมอ พยาบาล ด้านไอที หรือด้านการเงิน พวกนี้จะซื้อบ้านก็กังวล...จะเข้าไปในบ้านไม่ได้ และราคายังสูงเหมือนเดิม...กลุ่มนักเรียนที่จะหาเช่าบ้านก็ลำบาก เพราะเข้าของบ้านที่ให้เช่าก็จะเข้มงวดขึ้น” คุณแนนซี่กล่าว

เธอยังขยายความเพิ่มเติมถึงผลกระทบเชิงลบที่มีต่อฟากนายทุนเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ “อย่างพวกคนที่ลงทุน...ที่มีบ้านให้เช่า มีอพาร์ทเม้นต์ให้เช่า ก็ไม่กล้าให้เช่า เพราะว่ากลัวคนที่มาเช่าจะมีคุณสมบัติไม่ครบ เกิดตกงานขึ้นมาจะทำอย่างไร”

ที่เมืองไทย ถ้าทางรัฐบาลเห็นความสำคัญของ real estate broker ควรทำให้เป็นเรื่องเป็นราว...มีสถาบันเข้าไปเรียนไปสอบ...มันก็จะช่วยยกสถาบันนายหน้าของเมืองไทยให้ดีขึ้น


นอกจากนี้คุณแนนซี่ยังได้ชี้ถึงกรณีที่โควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการทำงานในฐานะตัวแทนซื้อขายบ้าน เธอเล่าให้ฟังว่า หนึ่งในทีมงานของเธอที่เคยได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่และรักษาจนหายแล้ว โดยทางตัวแทนคนดังกล่าวได้ยืนยันกับเจ้าของบ้านที่ต้องการขาย ว่าจะไม่ไปในพื้นที่ด้วยตนเอง แต่ต้องการให้ลูกค้าเข้าเยี่ยมชมบ้านก่อนซื้อ ซึ่งก็ได้รับการปฏิเสธจากเจ้าของบ้านที่ไม่ต้องการทำธุรกรรมด้วยเพราะความกังวลด้านสุขอนามัย จนทำให้ไม่สามารถปิดการซื้อขายได้

ปัจจุบัน ผู้ซื้อและผู้ขายต่างคำนึงถึงความปลอดภัยกันมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีอย่าง Virtual Tour หรือการแนะนำสถานที่ผ่านหน้าจอ พร้อมทั้งนำเสนอด้วยองค์ประกอบแบบสามมิติเพื่อแสดงรายละเอียด (ตัวอย่างเช่น Matterport) กำลังเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสถานการณ์โควิด-19

แต่ตามประสบการณ์ของคุณแนนซี่ บอกว่าเทคโนโลยีแบบนี้ ไม่ได้เหมาะกับทุกคน

“มันไม่เหมือน แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย...โดยส่วนมากคนรุ่นใหม่จะยอมรับได้...แต่ถ้าคนซื้อมีอายุหน่อย ก็จะเป็นแบบความคุ้นชินที่อยากจะดูในบ้านมากกว่า”

เธอบอกว่า เหตุผลสำคัญที่สุด ที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ คือ ด้านความรู้สึก “มันสัมผัสไม่ได้ มันมองไม่ได้..แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร เขาอาจจะแอบแฝงอะไรอยู่ข้างหลังก็ได้ แต่ทำรูปซะสวยเลย...และการซื้อบ้านเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับอารมณ์ ...ก็ต้องดูให้ละเอียด และก็ไม่ใช่ถูกๆ...ยิ่งคนที่ซื้อบ้านเป็นหลังแรกก็ต้องยิ่งระมัดระวังใหญ่”

Nancy Suvarnamani
Nancy Suvarnamani

จากประสบการณ์ที่สั่งสมในธุรกิจนี้ ทั้งในประเทศไทย ประเทศสหรัฐฯ และประเทศต่างๆในทวีปเอเชีย คุณแนนซี่ ระบุว่า ถ้าในประเทศไทยมีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของตัวแทนอสังหาฯ จากภาครัฐฯ เฉกเช่นในอเมริกา จะเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมนี้

“ที่เมืองไทย ถ้าทางรัฐบาลเห็นความสำคัญของ real estate broker ควรทำให้เป็นเรื่องเป็นราว...มีสถาบันเข้าไปเรียนไปสอบ...มันก็จะช่วยยกสถาบันนายหน้าของเมืองไทยให้ดีขึ้น...อยากให้ทางอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยมีมาตรฐานเพิ่มขึ้น”

แม้ในวันที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงความถดถอย และอนาคตที่ยังคาดเดาไม่ได้ แต่พฤติกรรมของคนที่จำเป็นต้องอาศัยหนึ่งในปัจจัย 4 อย่างที่พัก โดยเฉพาะชีวิตวิถีใหม่ ที่โควิด-19 ผลักดันให้คนจำเป็นต้องอยู่บ้านมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าในอนาคต อสังหาริมทรัพย์ จะยังคงส่วนสำคัญทางด้านเศรษฐกิจอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

เรื่อง ณัฐสิทธิ์ รุทระกาญจน์

เรียบเรียง คมสัน ศรีธนวิบุญชัย

XS
SM
MD
LG