ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การศึกษาชี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สะเทือนการนับเวลาโลก!


แฟ้มภาพ - พนักงาน Electric Time Co. ปรับหน้าปัดนาฬิกาที่ เมดฟิลด์ แมสซาชูเซตส์ เมื่อ 30 ต.ค. 2008 (AP Photo/Elise Amendola, File)
แฟ้มภาพ - พนักงาน Electric Time Co. ปรับหน้าปัดนาฬิกาที่ เมดฟิลด์ แมสซาชูเซตส์ เมื่อ 30 ต.ค. 2008 (AP Photo/Elise Amendola, File)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผิดธรรมชาติ ไม่เพียงแต่เป็นต้นตอของปรากฏการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนสูงและสภาพอากาศแปรปรวนแบบสุดโต่งเท่านั้น แต่การศึกษาชิ้นใหม่ได้แสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อการนับเวลาโลกด้วย

การนับเวลาอันแม่นยำในยุคสมัยปัจจุบัน มาจากการใช้นาฬิกาอะตอม 400 ตัวทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้ได้เวลาอันถูกต้องแม่นยำตามมาตรฐานสากล ที่เรียกว่า เวลาสากลเชิงพิกัด หรือ Coordinated Universal Time (UTC)

เวลามาตรฐานนี้ต้องอาศัยการคิดคำนวณเวลาอันซับซ้อนจากสำนักงานมาตราชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (International Bureau of Weights and Measures - BIPM) และมีการควบคุมให้เป็นไปตามการหมุนของโลก ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา

แพทริเซีย ทาเวลลา ผู้อำนวยการฝ่ายเวลาของ BIPM ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอผ่าน Skype ว่า “มันได้มีการระบุไว้แล้วตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ว่าจะไม่ยอมให้มีความแตกต่างระหว่างเวลาบนนาฬิกาอะตอมและการหมุนของโลกเกินกว่า 1 วินาทีได้ .. โดยที่เราได้เพิ่มสิ่งที่เรียกว่าอธิกวินาที หรือ leap second ขึ้นมา 1 วินาทีเมื่อเห็นว่าส่วนต่างของเวลาดังกล่าวนั้นเข้าใกล้ 1 วินาที”

การนับเวลาในช่วงที่ผ่านมายังได้เพิ่มอธิกวินาทีเข้าไปในเวลาสากลเชิงพิกัด 27 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1972 แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ มีการคาดการณ์ว่าการลบเวลาลง 1 วินาที หรือ negative leap second อาจเป็นสิ่งจำเป็น

ทว่า ในโลกที่หมุนไปด้วยนาฬิกาสากล การเปลี่ยนแปลงนี้อาจสร้างผลกระทบมากมายตามมาได้

ดีมีทริออส มัตซาคิส อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์จาก US Naval Observatory หน่วยงานทางวิทยาศาสตร์และการทหารที่สร้างข้อมูลตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ การนำทาง และการบอกเวลา แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวกับวีโอเอผ่าน Skype ว่า “บางครั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะเลวร้ายมาก เช่น การลงจอดเครื่องบิน เพราะเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ตรวจสอบพบความผิดปกติบางอย่างมันจะหยุดทำงาน .. และเราไม่รู้ว่าปัญหารูปแบบดังกล่าวจะเลวร้ายลงเมื่อเราลบเวลาลงไป 1 วินาที”

แต่ในการวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผิดธรรมชาติอาจทำให้ความต้องการลบเวลาโลกลงไป 1 วินาทีนั้นช้าลงไปอีก

ดันแคน แอกนูว์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานดิเอโก ผู้เขียนการวิจัยนี้ กล่าวกับวีโอเอผ่าน Skype ว่า “อากาศเริ่มอุ่นขึ้นในอาร์กติก และมีมวลน้ำแข็งมหาศาลที่ละลายออกมาในมหาสมุทรและไหลไปทั่วโลก .. สิ่งที่เป็นผลกระทบจากโลกร้อนก็คือการทำให้โลกหมุนช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น”

แอกนูว์ อธิบายให้เห็นภาพตามถึงนักสเก็ตน้ำแข็งที่กำลังหมุนตัวโดยยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ เปรียบเหมือนโลกที่มีแผ่นน้ำแข็งในอาร์กติก แต่เมื่อครั้งที่เธอวาดแขนลงมาขนานกับพื้นเป็นรูปตัว T จะทำให้การหมุนตัวช้าลงไป นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายและไหลไปตามมหาสมุทรโลก

การหมุนของโลกที่ช้าลงไปหมายความว่า หากจำเป็นต้องลบเวลาโลกทิ้งไป 1 วินาที แต่กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด คือ ปี 2029 จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2026

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะให้ผลเชิงบวกเช่นกัน แม้จะดูไม่ทัดเทียมกับผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำทะเลหนุนสูง เป็นต้น

ในเรื่องนี้ เจฟฟรีย์ พาร์ค นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเยล กล่าวกับวีโอเอผ่าน Skype เช่นกันว่า “นี่คือหลักฐานบ่งชี้ว่ากระบวนการของภาวะโลกร้อนที่ละลายแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก ส่งผลกระทบต่อลักษณะพื้นฐานของโลกเรา อย่างการหมุนของโลก แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเล็กน้อยมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่วัดค่าได้”

ผลกระทบของโลกร้อนต่อการนับเวลาที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ทาง BIPM มีมติที่จะหยุดการเพิ่มอธิกวินาทีเข้าไปในเวลาโลก ตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไป ส่วนการหารือเรื่องการปรับเวลาสากลให้สอดรับกับการหมุนของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาวะโลกร้อนนั้น คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2026

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG