ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ ปัดฝุ่นระบบป้องกันการโจมตีแบบ “Star Wars” รับมือเกาหลีเหนือ !?


NUCLEAR
NUCLEAR

Space Defense Initiative หรือโครงการป้องกันตนเองในอวกาศแบบ “Star Wars” นี้ต้องใช้ดาวเทียมตรวจจับอย่างน้อย 1,600 ดวง

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:31 0:00

โครงการ Star Wars หรือ Space Defense Initiative เป็นโครงการป้องกันตนเองของสหรัฐฯ ที่มีจุดเริ่มต้นในสมัยประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน

โดยเป็นแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์กับองค์การนาซ่าในช่วงทศวรรษที่ 1980 หรือในยุคสงครามเย็น เพื่อป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธจากสหภาพโซเวียต ด้วยการส่งดาวเทียมเพื่อตรวจจับขีปนาวุธขึ้นสู่อวกาศ

แต่โครงการนี้ต้องล้มเลิกไปเพราะตัวเลขค่าใช้จ่ายที่สูงมากรวมทั้งจากการที่มีผู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิผลของโครงการนี้ และเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลง ความจำเป็นของโครงการดังกล่าวเพื่อรับมือกับการโจมตีด้วยจรวดขีปนาวุธจากสหภาพโซเวียตก็ลดน้อยลงไป

อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามครั้งใหม่เรื่องการโจมตีด้วยจรวดขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือในขณะนี้ ทำให้มีการหยิบยกแนวคิดดังกล่าวขึ้นมาพูดกันอีกครั้งหนึ่ง

นาย Robert Scheder นักวิเคราะห์ระบบของ RAND Corporation ซึ่งเป็นองค์กรที่ออกแบบยกร่างแผนการ Star Wars นี้ตั้งแต่แรก บอกว่าโครงการนี้สามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

และให้คำอธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบของแนวคิดการป้องกันตนเองในอวกาศหรือที่เรียกกันว่าโครงการ Star Wars นี้ว่า จะต้องมีการส่งระบบดาวเทียมเพื่อตรวจจับการยิงโจมตีด้วยขีปนาวุธขึ้นไปโคจรอยู่ในอวกาศให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกอย่างน้อย 1,600 ดวง

ซึ่งดาวเทียมเหล่านี้จะทำหน้าที่สอดส่องตรวจจับและทำลายขีปนาวุธที่มีทิศทางมุ่งเข้ามาโจมตีสหรัฐฯ แต่เงินลงทุนเพื่อส่งเครือข่ายดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศทั่วโลกนี้สูงถึงหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเกินกว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ในขณะนั้น และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้ไม่ได้ผ่านโต๊ะยกร่างออกไปถึงขั้นทำการทดลอง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนับสนุนเรื่องนี้ก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจและชี้ว่า ในช่วงนั้นสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นประเทศมหาอํานาจสามารถยิงจรวดติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ได้ครั้งละนับพันลูก แต่ตอนนี้เกาหลีเหนือซึ่งมีขีดความสามารถต่ำกว่า อาจจะยิงจรวดได้ครั้งละ 3-4 ลูกเท่านั้น และเชื่อว่าระบบดังกล่าวมีขีดความสามารถในการสกัดกั้นและป้องกันการโจมตีได้

แต่ผู้ที่คัดค้านก็แย้งว่า เกาหลีเหนืออาจใช้วิธีส่งจรวดลวง หรือที่เรียกว่า decoy เพื่อให้ระบบ Star Wars ที่ตรวจจับ เกิดช่องโหว่ขึ้นก่อนที่จะยิงซ้ำด้วยหัวรบจริง

และถึงแม้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอาจทำให้ต้องใช้ประมาณน้อยลง คือระหว่างสองหมื่นถึงเจ็ดหมื่นล้านดอลลาร์ก็ตาม แต่ในยุคของการโจมตีแบบ Cyber Warfare เกาหลีเหนือหรือรัฐอันธพาลต่างๆ รวมทั้งกลุ่มที่มีขีดความสามารถทางคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นพันธมิตรกับประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ อาจใช้วิธีโจมตีต่อระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมดาวเทียมในโครงการ Star Wars นี้ เพื่อให้ระบบควบคุมใช้การไม่ได้ เป็นต้น

XS
SM
MD
LG