ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ย้อนชะตากรรมวิบากผู้อพยพ 'โรฮิงจะ' เหยื่อค้ามนุษย์ที่ไร้ปลายทาง


Rohingya Boat People
Rohingya Boat People

รายงานสะท้อนชะตากรรมผู้อพยพชาวโรฮิงจะ เดินทางรอนแรมในทะเลเพื่อที่จะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ

ผู้สื่อข่าวของ Voice of America ที่ประเทศไทยได้ติดต่อกับแหล่งข่าวที่ทราบความเป็นไปของผู้อพยพชาวบังคลาเทศและชาวโรฮิงจะที่ติดอยู่บนเรือราว 350 คน เรือลำดังกล่าวจดทะเบียนเป็นเรือไทย แหล่งข่าวที่เป็นหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ชะตากรรมของผู้อพยพเหล่านั้นยังมีความไม่แน่นอนสูง

เรือไทยลำดังกล่าวมีเด็กผู้อพยพเดินทางมาด้วย 84 คน และสตรีอีก 50 คน ถูกทิ้งอยู่กลางทะเล หลังกัปตันและลูกเรือรวมทั้งนายหน้าค้ามนุษย์สละเรือเมื่อวันอาทิตย์

ขณะนี้ผู้อพยพเหล่านั้นอยู่โดยไม่มีน้ำดื่มและอาหารมาเป็นเวลาสี่วันแล้ว เด็กที่อยู่บนเรือคนหนึ่งกล่าวว่าคนหลายสิบคนเสียชีวิตไปแล้ว

แม้ว่ายังไม่สามารถยืนยันข้อมูลที่แหล่งข่าวอ้างอิง ณ ขณะนี้ แต่ Chris Lewa ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจากโครงการ Arakan Project ที่เขาก่อตั้งขึ้น ได้พูดโทรศัพท์หลายครั้งกับคนผู้ที่อยู่บนเรือ นอกจากนั้นเขากล่าวเมื่อวันพุธว่ามีเรืออีกลำหนึ่งที่ประสบเหตุการณ์อย่างเดียวกัน

ตัวอย่างที่กล่าวมา เป็นสิ่งสะท้อนชะตากรรมของผู้อพยพชาวโรฮิงจะจากพม่าที่หนีความรุนแรงทางการเมือง และชาวบังคลาเทศซึ่งลงเรือมาเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่านอกประเทศบ้านเกิด รวมกันแล้วคนเหล่านี้มีจำนวนกว่า 25,000 คนในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งมีจำนวนราวสองเท่าของในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

มาเลเซียเป็นจุดหมายปลายทางของผู้อพยพเหล่านี้จำนวนมาก แต่ทางการกรุงกัวลาลัมเปอร์กล่าวว่า หากพบเรือที่มีผู้อพยพ เจ้าหน้าที่จะให้เสบียงอาหารแล้ว จะไม่รับเรือเข้าฝั่งของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าแนวทางปฏิบัตินี้เป็นมาตรการของไทยและอินโดนีเซียเช่นกัน

David Hammond ผู้สันทัดกรณีด้านกฎหมายนาวี ผู้ก่อตั้ง หน่วยงาน Human Rights at Sea บอกกับ Voice of America ว่า ประเทศต้นสังกัดของธงประจำเรือที่ขนผู้อพยพมา มีส่วนรับผิดชอบหลักในการระบุตัวผู้อพยพ

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าธงของเรือและเอกสารจดทะเบียนเรือสามารถเปลี่ยนได้ไม่ยาก ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถระบุง่ายๆ ว่าในแต่ละกรณีประเทศใดต้องรับผิดชอบความเป็นไปของผู้โดยสารที่มากับเรือ

อีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ถึงความเอาจริงเอาจังของไทย รัฐบาลไทยกำลังพูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่อาจมีการเปิดค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงจะ และจัดการประชุมนานาชาติเรื่องการค้ามนุษย์ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 29 พฤษภาคม โดยที่จะมีประเทศที่ได้รับผลกระทบ 15 ประเทศเข้าร่วม ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศไทย

เมื่อวันพุธ เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยบอกกัย VOA ว่าสามารถระบุตำแหน่งของสถานที่กักตัวผู้อพยพชาวโรฮิงจะขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งใกล้ชายแดนมาเลเซีย

ข้อมูลจากมูลนิธิ Freeland Foundation ที่กรุงเทพฯ ระบุว่า ขบวนการค้ามนุษย์จะถามผู้อพยพชาวบังคลาเทศและชาวโรฮิงจะว่ามีญาติหรือเพื่อนอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ หากว่ามี ก็จะเรียกเก็บเงินสองถึงสามพันดอลลาร์ต่อคนจากญาติหรือเพื่อนเหล่านั้นเพื่อมาไถ่ตัวผู้อพยพ แต่หากว่าผู้อพยพไม่มีญาติ ขบวนการค้ามนุษย์ก็จะขายผู้อพยพให้กับเกษตรกรมาเลเซียที่ราคา 1,000 ดอลลาร์ หรือราว 30,000 กว่าบาทต่อคน

หากพิจารณาว่า สถานที่กักตัวผู้อพยพหลายแห่งถูกปิดลงท่ามกลางการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ น่าจะมีผู้อพยพโรฮิงจะและบังคลาเทศ 8,000-10,000 คนที่ยังหาจุดหมายปลายทางไม่ได้

และคงมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องลงเรืออยู่ในท้องทะเล และรอไปจนกว่าจะมีผู้ยื่นมือเข้าช่วย หรือถูกส่งต่อให้นายหน้าค้ามนุษย์ หากโชคร้ายก็อาจตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับกลุ่มที่ถูกปล่อยให้อยู่ในมหาสมุทร ที่ไม่มีทั้งน้ำและอาหารยังชีพ

โปรดติดตามรายละเอียดจากคลิปเรื่องนี้ในรายการข่าวสดสายตรงจากวีโอเอ
รายงานโดย Steve Herman/เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG