ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ข้าหลวงใหญ่ยูเอ็น' ระบุการโจมตีชาวโรฮิงจะในเมียนมา อาจเข้าข่าย 'สังหารล้างเผ่าพันธุ์' !!


FILE - A Rohingya Muslim woman, who crossed over from Myanmar into Bangladesh, holds her sick daughter and some medicine and walks back toward her shelter in Thaingkhali refugee camp, Bangladesh, Oct. 21, 2017.
FILE - A Rohingya Muslim woman, who crossed over from Myanmar into Bangladesh, holds her sick daughter and some medicine and walks back toward her shelter in Thaingkhali refugee camp, Bangladesh, Oct. 21, 2017.

ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวประณามการโจมตีและการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงจะในรัฐยะไข่ของเมียนมา และระบุว่าอาจเข้าข่ายการสังหารล้างเผ่าพันธุ์

นายซีอิด ราอัด อัล ฮุสเซ็น (Zeid Ra’ad al Hussein) ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวต่อสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติในวันจันทร์ว่า มีรายงานที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือว่า เกิดการโจมตีครั้งใหญ่อย่างเฉพาะเจาะจงต่อชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ของเมียนมา เมื่อเดือนสิงหาคม จนนำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวโรฮิงจะกว่า 620,000 คนไปยังชายแดนบังกลาเทศ ถือเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรมุสลิมโรฮิงจะในรัฐยะไข่

ที่ผ่านมา ทางการเมียนมาไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่องค์การต่างชาติเดินทางเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทราบตัวเลขที่แท้จริงของผู้ที่ถูกทำร้าย จับกุม สูญหาย หรือเสียชีวิต

Rohingya refugees
Rohingya refugees

ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลที่มีรวบรวมมา เกี่ยวกับการโจมตีอย่างต่อเนื่องในรัฐยะไข่ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การทำลายหมู่บ้าน ทรัพย์สิน และวิถีชีวิตของชาวโรฮิงจะ ทำให้ไม่สามารถตัดข้อกล่าวหาที่ว่า การปฏิบัติต่อชาวโรฮิงจะในรัฐยะไข่อาจเข้าข่ายการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ ออกไปได้ ซึ่งมีแต่ศาลระหว่างประเทศเท่านั้นที่จะตัดสินได้ว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายสังหารล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่

นายซีอิด ราอัด อัล ฮุสเซ็น เร่งเร้าให้รัฐบาลเมียนมารีบยุติความรุนแรงของชาวโรฮิงจะ และว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมต่อชาวมุสลิมเหล่านั้น และหยุดความบ้าคลั่งนี้เพื่อไม่ให้ลุกลามต่อไป รวมทั้งขอให้รัฐบาลเมียนมาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ต่างชาติเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ในรัฐยะไข่ด้วย

ทางด้านทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ ถิ่น ลินน์ (Htin Lynn) บอกปัดข้อกล่าวหาของข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน ที่ว่ารัฐบาลเมียนมาปฏิบัติต่อชาวโรฮิงจะเหมือนไม่ใช่มนุษย์ แต่ก็ยอมรับว่าอาจมีการทำร้ายชาวโรฮิงจะเป็นรายบุคคลเกิดขึ้นจริง รวมทั้งปฏิเสธว่านี่เป็นนโยบายของรัฐบาลเมียนมา

Rohingya Muslim refugees react as police and officials attempt to control a surging crowd as they wait to be called to recieve food aid of rice, water, and cooking oil in a relief centre at the Kutupalong refugee camp in Cox's Bazar on November 28, 2017.
Rohingya Muslim refugees react as police and officials attempt to control a surging crowd as they wait to be called to recieve food aid of rice, water, and cooking oil in a relief centre at the Kutupalong refugee camp in Cox's Bazar on November 28, 2017.

ด้านคุณมาร์ซูคี ดารุสมัน (Marzuki Darusman) ประธานองค์กรตรวจสอบ Myanmar Fact-Finding Mission ซึ่งสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงจะในเขต Cox’s Bazar ของบังกลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก กล่าวว่า เด็กๆ หลายคนเล่าถึงความุรนแรงที่เกิดขึ้นจากทหารเมียนมา เช่น การข่มขืนเด็กผู้หญิง และการสังหารพ่อแม่ของพวกเขาต่อหน้าต่อตา

ขณะที่คุณพรามิลา แพทเทน (Pramila Patten) ผู้แทนพิเศษด้านความรุนแรงทางเพศในพื้นที่ความขัดแย้ง ของเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า เธอได้พูดคุยกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงจะที่เขต Cox’s Bazar เช่นกัน และพบว่าสตรีและเด็กผู้หญิงจำนวนมากต่างเผชิญประสบการณ์ที่เลวร้ายและสะเทือนใจจากการถูกทำร้ายทางเพศโดยทหารเมียนมา

คุณพรามิลา แพทเทน เชื่อว่า เรื่องราวจากปากคำของชาวโรฮิงจะเหล่านี้ ช่วยยืนยันว่าการทำร้ายทางเพศได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามและลงโทษชาวมุสลิมโรฮิงจะอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและลุกลามออกไปในรัฐยะไข่

Rohingya refugees cross two bridges at Kutupalong refugee camp, near Cox's Bazar, Bangladesh, Nov. 28, 2017.
Rohingya refugees cross two bridges at Kutupalong refugee camp, near Cox's Bazar, Bangladesh, Nov. 28, 2017.

ขณะนี้ รัฐบาลเมียนมาและบังกลาเทศ ได้เริ่มเจรจาเพื่อส่งตัวชาวโรฮิงจะบางส่วนทยอยกลับไปยังรัฐยะไข่ แต่ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังคงกังวลว่า การที่รัฐบาลเมียนมายังไม่มีมาตรการปกป้องสิทธิมนุษยชนรองรับ จึงอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีนักที่จะส่งตัวผู้ลี้ภัยเหล่านั้นกลับไปยังภูมิลำเนาของพวกเขา ที่ซึ่งพวกเขาถูกทำร้ายอย่างทารุณจนต้องหลบหนีออกมา

(ผู้สื่อข่าว Lisa Schlein รายงานจากนครเจนีวา / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG