ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยูเนสโก ย้ำ โควิด-19 เพิ่มความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาทั่วโลก


Schoolchildren in Kinshasa - school Africa - education DRC Congo
Schoolchildren in Kinshasa - school Africa - education DRC Congo

จะทำอย่างไรให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระหว่างที่ปิดโรงเรียนและในระหว่างที่มีการหยุดชะงักอื่นๆ เป็นหนึ่งในคำถามที่ยากที่สุดในช่วงการเกิดโรคระบาดใหญ่นี้

ข้อมูลจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) เมื่อเดือนเมษายน ปี 2020 พบว่ามีนักเรียนอย่างน้อย 1,100 ล้านคนใน 114 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดโรคระบาดใหญ่และการปิดโรงเรียน

แต่ความไม่เท่าเทียมกันในครอบครัว โรงเรียน และประเทศต่างๆ หมายถึงการที่นักเรียนบางคนมีความพร้อมมากกว่าคนอื่นๆ ในการที่จะประสบความสำเร็จในช่วงที่เกิดภาวะชะงักงันเหล่านี้

การศึกษาครั้งใหม่ซึ่งทำโดยสมาคมระหว่างประเทศเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือ ไออีเอ (IEA) และ ยูเนสโก ได้สำรวจวิธีการสอนและวิธีการเรียนรู้ที่ใช้ใน 11 ประเทศในช่วงของการระบาดใหญ่

การศึกษานี้ได้สำรวจผู้บริหารโรงเรียนกว่า 1,500 คน ครูอาจารย์ 15,000 คน และนักเรียนอีก 21,000 คน การสำรวจขนาดใหญ่ดังกล่าวมีขึ้นในสี่ประเทศในแอฟริกา สามประเทศในยุโรป สองประเทศในเอเชีย และอีกสองประเทศในอเมริกาใต้กับตะวันออกกลาง โดยมีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา

ทั้งนี้ วิธีการสอนและวิธีการเรียนรู้ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความแตกต่างกันอย่างมาก ในขณะที่โรงเรียนปิดทำการเรียนการสอน บางประเทศสามารถเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ตัวอย่างเช่น ประเทศในแถบยุโรป อย่างเดนมาร์กและสโลวีเนีย นักเรียนมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์มีคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปใช้เพื่อทำการบ้าน แต่หลายๆ ประเทศในแอฟริกา อย่างเช่น บูร์กินาฟาโซ เอธิโอเปีย และเคนยา มีนักเรียนน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีแล็ปท็อปใช้

โดยรวมแล้ว มีนักเรียน 10 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่า ตนไม่มีทรัพยากรที่จะใช้ทำการบ้านให้เสร็จได้

ทั้งนี้ ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรด้านดิจิทัลมักจะใช้วิธีอื่นๆ ในการติดต่อกับนักเรียนที่อยู่นอกโรงเรียน เช่น การออกอากาศวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษามีเพิ่มมากขึ้นในบางแห่ง ซึ่งรวมถึงรวันดา เคนยา และรัสเซีย

แต่เมื่อโรงเรียนปิดลง มีนักเรียนจำนวนมากที่อยู่ว่างเป็นเวลานานโดยที่ไม่ได้เรียนหนังสือเลย นักเรียนส่วนใหญ่ในบูร์กินา ฟาโซ ราวครึ่งหนึ่งในเอธิโอเปีย และราวหนึ่งในห้าของนักเรียนในเคนยาไม่ได้ทำการบ้านเลยเป็นเวลาอย่างน้อยสี่เดือน

เดิร์ค แฮสเท็ดท์ (Dirk Hastedt) ผู้บริหารระดับสูงของ IEA ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่เป็นผู้นำการศึกษานี้กล่าวว่า ทุกๆ ประเทศต่างมีความห่วงใยต่อนักเรียนที่ยากจนและมีความเปราะบางที่สุด โดยนักเรียนที่ยากจนและที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่แล้วเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในระหว่างที่โรงเรียนต้องหยุดชะงัก หลายๆ คนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรดิจิทัลได้ นอกจากนี้ครอบครัวของนักเรียนหลายๆ คนยังประสบปัญหาทางการเงินอันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนของนักเรียนเหล่านั้น และนักเรียนบางคนยังต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ที่เคนยา นักเรียน 63 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งของตนต้องตกงานระหว่างการระบาดใหญ่ และในเอธิโอเปีย นักเรียนเกือบครึ่งรายงานว่าต้องดูแลน้องๆ ที่บ้าน ซึ่งทำให้มีเวลาเรียนน้อยลง

แฮสเท็ดท์กล่าวว่าบรรดาผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องหาวิธีที่จะเข้าถึงนักเรียนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด และในอนาคต จะต้องหาวิธีที่เราจะทำให้นักเรียนเหล่านี้กลับมาเรียนตามให้ทัน เพื่อไม่ให้การเรียนถดถอยลงไปกว่าเดิม

นอกจากนี้แล้วการระบาดใหญ่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของนักเรียนและครูอีกด้วย นักเรียนส่วนใหญ่ในแปดประเทศที่ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า จิตใจของพวกเขาได้รับความทุกข์ทรมานระหว่างการระบาดใหญ่ อย่างเช่นที่อินเดีย คุณครู 85 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า พวกเขาต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเพิ่มเติม ทางด้านรัสเซีย ครู 64 เปอร์เซ็นต์รายงานว่ารู้สึกเหนื่อยเกือบตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี แฮสเท็ดท์กล่าวว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนมีบทบาทมากกว่าการเป็นที่สอนและเป็นที่เรียนรู้เท่านั้น แต่โรงเรียนยังมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนอีกด้วย เพราะโรงเรียนเป็นโครงสร้างส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกๆ คน

XS
SM
MD
LG