ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักจิตวิทยาแนะวิธีบรรเทาความเจ็บปวดจากการถูกปฏิเสธ


sad face-2
sad face-2

ความเสียใจเมื่อถูกปฏิเสธมักเป็นความเจ็บปวดจากการโทษตัวเอง ซึ่งเป็นไปตามที่สมองถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้น

นักจิตวิทยา Guy Winch เขียนบทความลงเว็บไซท์ ideas.ted.com ถึงความเสียใจที่เกิดขึ้นกับคนหลังจากการถูกปฏิเสธ และให้ข้อแนะนำว่าควรทำอย่างไรเพื่อเยียวยาจิตใจตนเอง เขากล่าวว่าในโลกปัจจุบันเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจจากการถูกปฏิเสธมีมากขึ้น เพราะมนุษย์สื่อสารกันบ่อยกว่าอดีต

การที่คนที่เราชอบไม่ Like ข้อความหรือรูปบนโซเชี่ยลมีเดีย อาจสร้างความเสียใจได้ง่ายๆ นักจิตวิทยากล่าวว่าความเจ็บปวดทางใจมักเกิดขึ้นจากการคิดลบต่อตนเอง โดยเฉพาะการวิจารณ์ตนเองให้เจ็บลึกลงไปอีก เมื่อภาวะจิตใจของเราตกต่ำอยู่แล้ว

นั่นยังไม่รวมถึงการถูกปฏิเสธครั้งใหญ่ๆ ในชีวิต เช่นถูกบอกเลิกโดยคนรัก โดนกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่มเพื่อน หรือไม่ได้รับการยอมรับจากที่ทำงาน

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าสมองคนเราถูกสร้างขึ้นมาให้เสี่ยงต่อความเสียใจเมื่อถูกปฏิเสธ กล่าวคือสมองเกิดปฏิกิริยาเมื่อเราถูกปฏิเสธ แบบเดียวกันกับที่เมื่อเราเจ็บปวดทางกาย และผู้ที่ศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์พบว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม

ในอดีตความอยู่รอดของคนขึ้นกับการวมกลุ่มกันล่าสัตว์หาอาหารเพื่อความอยู่รอด การถูกตัดออกจากกลุ่มจึงเปรียบเหมือนโทษประหารชีวิตเลยก็ว่าได้

Guy Winch กล่าวว่าอันที่จริงการถูกปฏิเสธส่วนมากเกิดจากความเข้ากันไม่ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ลดลง เขายังแนะนำแนวทางการเยียวยาใจจากเหตุการณ์จิตตกเมื่อถูกปฏิเสธ

ข้อแนะนำหนึ่งคือ ให้คุณเขียนข้อดีของตนเองบนกระดาษเมื่อเสียใจจากการถูกปฏิเสธ เขาบอกว่าการระลึกถึงคุณค่าของตนเป็นเหมือนเป็นยาให้แก่จิตใจ

นอกจากนั้นเขาแนะว่าเมื่อเราเริ่มวิจารณ์ตนเองว่าไม่ดี ต้องตั้งสติให้ได้และหยุดวงจรนั้นทันที

และหากคุณเป็นพ่อแม่ ที่เห็นลูกของตนไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน คุณสามารถให้ลูกรู้สึกดีขึ้นด้วยการจัดกิจกรรมให้ลูกได้ทำกับเพื่อนกลุ่มอื่น

(เรียบเรียงจากบทความของ ideas.ted.com โดยรัตพล อ่อนสนิท)

XS
SM
MD
LG