ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แพทย์กำลังคิดค้นวิธีใหม่ที่ถูกต้องแม่นยำกว่าเดิมในการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก


แพทย์ชี้หากญาติผู้ชายคนใดในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ชายคนอื่นในครอบครัวถึงสามเท่า

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:08 0:00
Direct link


ประวัติการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในครอบครัว คือปัจจัยหนึ่งซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในหมู่ผู้ชาย รายงานชิ้นหนึ่งพบว่าหากญาติผู้ชายคนใดคนหนึ่งในครอบครัวเป็นโรคนี้ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ชายคนอื่นๆ ในครอบครัวถึงสามเท่า

การตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากนั้นแตกต่างกับการตรวจหามะเร็งเต้านมในผู้หญิง เพราะการตรวจมะเร็งเต้านมจะใช้รังสีแบบอ่อนในการทำแมมโมแกรม แต่มะเร็งต่อมลูกหมากใช้อัลตร้าซาวน์หรือคลื่นเสียงซึ่งอันตรายน้อยกว่า อย่างไรก็ตามการใช้อัลตร้าซาวน์มักให้ผลที่ไม่แน่นอน

ดร.Peter Pinto แห่งสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่าอัลตร้าซาวน์ช่วยให้แพทย์รู้ว่าเข็มสามารถเข้าไปถึงต่อมลูกหมาก เพื่อจิ้มเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อมาตรวจหาเซลล์มะเร็ง แต่แพทย์ไม่สามารถใช้อัลตร้าซาวน์ในการนำทางให้เข็มเข้าไปถึงตำแหน่งที่ต้องการซึ่งอาจเป็นจุดที่มีก้อนเนื้องอกได้ จึงเรียกว่าเป็นการสุ่มตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อหาเซลล์มะเร็งมากกว่า

ดร.Minhaj Siddiqui ผู้จัดทำรายงานการศึกษาเรื่องการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยวิธี MRI ชี้ว่าในทางกลับกัน MRI ซึ่งเป็นการสแกนด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ เพื่อให้ได้ภาพแบบละเอียดของต่อมลูกหมาก จะช่วยบอกได้ว่าเนื้องอกนั้นซ่อนตัวอยู่ตรงส่วนไหนของต่อมลูกหมาก

ดร.Siddiqui ทำการศึกษาด้วยการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ชายที่มีความเสี่ยงสูงต่อมะเร็งต่อมลูกหมาก 1000 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกลองใช้วิธีตรวจแบบอัลตร้าซาวน์ควบคู่กับ MRI ส่วนอีกกลุ่มใช้อัลตร้าซาวน์อย่างเดียว

ดร.Peter Pinto ผู้ร่วมทำรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ผลการทดสอบพบว่าการใช้ MRI ควบคู่ด้วย ช่วยเพิ่มโอกาสในการตรวจพบเนื้องอกถึง 30%

ดร.Siddiqui บอกว่าผลการศึกษาเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าการใช้ MRI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากได้ และยังสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วยได้ด้วย ซึ่งทางคณะวิจัยกำลังเตรียมการทดสอบขั้นต่อไปในเร็ววันนี้

รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสารการแพทย์ Journal of the American Medical Association

รายงานจากผู้สื่อข่าว Carol Pearson / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล


XS
SM
MD
LG