ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รู้จัก 'คำสแลง' ยอดนิยมทางการเมืองอเมริกันเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ


White House
White House

การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่เต็มไปด้วยภาษาสแลงทางการเมืองอเมริกัน ที่คนต่างชาติอาจจะไม่เข้าใจความหมาย

please wait

No media source currently available

0:00 0:05:08 0:00

David Burke นักเขียนและผู้จัดรายการโชว์ทางโทรทัศน์ Slangman's World กล่าวว่ามีการใช้ภาษา Slang ทางการเมืองมากมาย ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ครั้งนี้

และคำ Slang เหล่านี้ จำเป็นต้องมีการอธิบายความหมายเพื่อช่วยให้ผู้ติดตามข่าวสารในระดับนานาชาติเข้าใจ

คุณ Burke ยกตัวอย่างคำว่า ‘'showdown'’ ซึ่งมาจากรัฐตะวันตกของสหรัฐฯ เช่น เท็กซัส เป็นคำที่ใช้สาธยายการดวลปืนของคาวบอยสองคนที่อยู่ร่วมเมืองเดียวกันไม่ได้ ใครที่ยังยืนอยู่หลังดวลปืนจบ ก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ คุณ Burke บอกว่าการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ก็เป็นลักษณะเดียวกันที่คนหนึ่งอยู่ อีกคนต้องไป เพียงแต่ไม่มีการดวลปืนเท่านั้น

ส่วนคำกล่าวที่ว่าผู้สมัครลงเเข่งขันต่างใช้เวลานานหลายเดือนในการตระเวณขึ้นเวทีหาเสียงหรือ "on the stump" หรือ "stumping" คำกล่าวนี้ใช้กันมาตั้งเเต่ช่วงต้นของการเกิดเป็นประเทศของสหรัฐอเมริกา

Grant Barrett ผู้รวบรวมคำ Slang ทางการเมืองอเมริกันแก่ Oxford Dictionary และผู้ร่วมจัดรายงานวิทยุ A Way with Words อธิบายว่า ลองจินตนาการว่าคุณกำลังตระเวณเดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งด้วยล้อเกวียนหรือด้วยการขี่ม้า เเละคุณจะต้องเสาะหาจุดที่สูงกว่าระดับพื้นเพื่อขึ้นไปปราศรัยต่อประชาชนทั่วไป คุณอาจจะต้องขึ้นไปยืนอยู่บนตอไม้จริงๆ

แต่ในปัจจุบัน ผู้สมัครรับการเลือกตั้งอาจต้องขึ้นไปยืนบนเวทีจริงๆ หรือเวทีที่สร้างขึ้นชั่วคราวเพื่อการปราศรัยโดยเฉพาะ แต่การออกไปรณรงค์หาเสียงในเมืองโน้นเมืองนี้ในสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ยังใช้คำว่า "stumping" อยู่

ผู้สมัครต่างพยายามชักจูงใจผู้มีสิทธิ์ลงคะเเนนในประเด็นต่างๆ มากมาย และบางคนให้คำมั่นสัญญาแบบแอบแฝง ผ่านยุทธวิธีที่เรียกว่า "dog whistle" ที่ส่งสารแบบต้องตีความ เพราะมีความหมายแอบแฝงไปยังกลุ่มผู้ฟังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

Barrett ยกตัวอย่างว่า ผู้สมัครคนหนึ่งพูดถึงการให้บริการรถบัสรับส่งของโรงเรียนที่เป็นบริการภาคบังคับ ในทางการเมือง ประเด็นนี้จะหมายรวมถึงความเท่าเทียมทางเชื้อสายหรือปัญหาที่คนกลุ่มน้อยยากจนในสหรัฐต้องประสบ

ส่วนคำ Slang ที่ว่า "gloves are off" ในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง และผู้สมัครทั้งสองฝ่าย "playing hardball" คำ Slang ทั้งสองคำนี้มาภาษาทางการกีฬา ที่อธิบายให้เห็นภาพของการพยายามเอาชนะกันอย่างไม่ปราณี

และมักใช้คำ Slang ว่า "presidential horserace" ที่ให้ความหมายว่าเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่สูสีเหมือนกับการแข่งม้า

มาถึงคำ Slang ที่ว่า "mudslinging" ที่แปลว่าการสาดโคลน ที่ใช้ในความหมายว่าใช้คำพูดหรือวาจาที่ส่อเสียด ดูหมิ่นผู้อื่น คุณ David Burke กล่าวว่าการเเข่งขันชิงตำเเหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งนี้ มี "mudslinging" เยอะมาก

ผู้สมัครจะชนะกันเป็นรัฐๆไป ในสหรัฐฯ มีรัฐสีเเดงหรือ red states เเสดงว่าเป็นรัฐที่นิยมพรรค Republican และรัฐสีน้ำเงิน หรือ blue states เป็นรัฐที่นิยมพรรค Democrat

การเลือกใช้สีทั้งสองสีนี้เพื่อระบุว่านิยมพรรคการเมืองใดในสหรัฐฯ เป็นความบังเอิญเท่านั้น และใช้กันทั่วไปมาตั้งเเต่การเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2000 ส่วนรัฐอื่นๆ ที่ไม่เข้าข่ายว่าเป็นรัฐสีเเดงหรือสีน้ำเงิน เพราะมีคะแนนสูสีกันก็จะถูกเรียกว่า รัฐ "swing" หรือ "battleground" แทน และใช้สีม่วงเป็นสีสัญลักษณ์

Barrett กล่าวว่าภาษาทุกภาษาล้วนมีคำ Slang เขาบอกว่าในชาติที่พูดภาษาอังกฤษ ไม่มีหน่วยงานทางการใดๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการใช้ภาษา Slang อย่างในประเทศฝรั่งเศส ดังนั้น จึงมีการใช้คำ Slang ในทุกรูปแบบ ไม่่ว่าจะเป็นในภาษาพูด ภาษาเขียน การโต้วาทีหรือการโต้อภิปราย

ส่วนคำที่นิยมใช้กันมากในทางการเมือง เพื่ออธิบายชัยชนะแบบถล่มทลายว่า a "landslide" victory ผู้สื่อข่าววีโอเอกล่าวว่า ไม่มีใครรู้เเน่ชัดว่าทำไมจึงมีการใช้คำที่หมายความถึงการถล่มของดินโคลนตามลาดเขา มาเปรียบเทียบกับการชัยชนะในการเลือกตั้งเเบบที่ผู้ชนะได้รับคะเเนนเสียงมากกว่าคู่เเข่งอย่างล้นพ้น

แต่คุณ Burke บอกว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ ผู้ลงเเข่งขันจากทั้งสองฝ่ายเตรียมพร้อมที่จะเอาชนะกันเเบบ "by a whisker" หรือ "by a hair’’ ซึ่งถ้าจะเเปลเป็นภาษาไทย ก็น่าจะหมายความว่าเป็นชัยชนะแบบหวุดหวิดหรือเเบบเส้นยาเเดงผ่าแปด

(รายงานโดย Mike O'Sullivan / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)

XS
SM
MD
LG