ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การศึกษา ชี้ มนุษย์ทุ่มเวลาชีวิตเกือบ 10 ปี เพื่อเล่นสมาร์ทโฟน


Digital Addiction
Digital Addiction

สมาร์ทโฟนมีบทบาทต่อมนุษย์จนแทบจะกลายเป็นอวัยวะชิ้นใหม่ไปทุกที และการจากศึกษาชิ้นล่าสุดพบว่า ผู้คนในปัจจุบันใช้เวลากับอุปกรณ์นี้นานกว่าการใช้เวลากับสิ่งอื่นๆเสียด้วย ว

People Spend Nearly 10 Years on Their Smartphone
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:23 0:00


ถ้าคุณถูกถามว่า “คุณจะเสียเวลาชีวิตไปเกือบ 10 ปี เพื่อเอาแต่จ้องหน้าจอมือถือหรือเปล่า?” หลายคนคงตอบว่าไม่อย่างแน่นอน แต่ด้วยภาวะ FOMO หรือ Fear of Missing Out กลัวตกข่าวตกขบวนในคลื่นสื่อสังคมออนไลน์ บวกกับการพัฒนาของสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกที่ดึงดูดให้คนต้องทุ่มเวลากับมันมากขึ้น

อย่างเมื่อต้นสัปดาห์ ทวิตเตอร์ เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ที่ให้ผู้ใช้สามารถโพสต์ทวีตที่สามารถหายไปจากแพลตฟอร์มได้ใน 1 วัน ภายใต้ชื่อ fleet ซึ่งหมายถึง รวดเร็ว ฉับไว คล้ายกับสื่อสังคมออนไลน์เจ้าอื่นอย่าง Snapchat Facebook และ Instagram ที่มีระบบการโพสต์ข้อความที่สามารถอันตรธานหายไปในเวลาอันสั้นมาก่อนหน้านี้

ภายใต้ระบบ Fleet ผู้ใช้สามารถโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอ ที่มีอายุขัยบนบัญชีของผู้ใช้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง และผู้ใช้รายอื่นไม่สามารถรีทวีตและไม่มีใครสามารถกดชื่นชอบข้อความดังกล่าวได้ ซึ่งทวิตเตอร์ให้เหตุผลว่า เพื่อเอาใจผู้ใช้ที่ไม่อยากให้ข้อความของตนเป็นสาธารณะเกินไปและอยู่บนแพลตฟอร์มไปตลอดกาล และเปิดทางให้ผู้คนแสดงความเห็นของตัวเองออกมาได้มากขึ้น พร้อมทั้งประกาศแผนการใช้ voice tweet ที่ใช้ข้อความเสียงแทนการทวีตข้อความสั้น 280 ตัวอักษร รวมทั้งฟีเจอร์ Spaces ห้องสนทนาสาธารณะของทวิตเตอร์ในปีหน้า

ล่าสุด ในการศึกษาของเว็บไซต์ด้านมือถือและสมาร์ทโฟน WhistleOut เปิดเผยความจริงปวดใจเกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟนของผู้คนในยุคปัจจุบัน ด้วยความรุดหน้าของโซเชียลมีเดียที่ต้องการตรึงผู้ใช้ให้อยู่หมัดด้วยฟีเจอร์ที่หลากหลาย

ข้อมูลของ WhistleOut คำนวณระยะเวลาการใช้สมาร์ทโฟนแต่ละวันของผู้คนหลากหลายช่วงอายุ และพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วตลอดช่วงชีวิตคนๆหนึ่งจะใช้เวลาราว 76,500 ชั่วโมง หรือราว 8.74 ปี ในการใช้สมาร์ทโฟน

และเมื่อแบ่งเป็นช่วงอายุ ก็ไม่น่าแปลกใจที่แชมป์ผู้ใช้สมาร์ทโฟน ตกเป็นของมิลเลเนียล คือ ผู้ที่เกิดในช่วงปี 1981-1996 ซึ่งตอนนี้จะมีอายุระหว่าง 24-39 ปี ใช้เวลากับหน้าจอมือถือราว 3.7 ชั่วโมงต่อวัน และเมื่อหักลบกับเวลานอนโดยเฉลี่ยของผู้คนในกลุ่มนี้ จะพบว่า พวกเขาใช้เวลา 23.1% ในการไถหน้าจอสมาร์ทโฟนพวกเขาในแต่ละวัน

อันดับสองตกเป็นของ เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ คือ ผู้ที่เกิดในช่วงปี 1965-1980 ซึ่งตอนนี้จะมีอายุระหว่าง 40-55 ปี ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงต่อวันกับหน้าจอมือถือ หรือราว 16.5% ของเวลาที่พวกเขาใช้ในแต่ละวัน ส่วนเบบี้บูมเมอร์ คือ ผู้ที่เกิดในช่วงปี 1946-1965 ซึ่งตอนนี้จะมีอายุระหว่าง 55-74 ปี ใช้เวลากับสมาร์ทโฟนราว 2.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 9.9% ของเวลาในแต่ละวัน

ขณะที่ Generation Z ที่เกิดหลังปี 1996 ไปแล้ว ดูจะนำหน้าคนรุ่นก่อนๆในแง่การใช้เวลากับหน้าจอมือถือหรือบนโลกออนไลน์ โดยพบว่า 95% ของวัยรุ่นที่มีอายุ 13-17 ปี มีสมาร์ทโฟนอย่างน้อย 1 เครื่อง และราว 45% ของคนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ในการศึกษาของ Pew Research เมื่อปี 2018

ในการศึกษาของ Pew Research เมื่อปี 2018 เพิ่มเติมว่า 91% ของวัยรุ่นกลุ่มนี้ ไถหน้าจอมือถือไปเพื่อฆ่าเวลา 84% บอกว่าเพื่อติดต่อกับคนอื่นๆ 83% บอกว่าเพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

มีการยืนยันจาก Mr. Beast ยูทูบเบอร์ชื่อดังของอเมริกา ที่ให้แฟนๆที่ติดตามเขาแชร์รายงานผลการใช้เวลาบนหน้าจอมือถือให้เขาดู ปรากฏว่า ผู้ติดตามของเขาบางรายใช้เวลามากถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Gen Z ยอมรับว่ากังวลเรื่องการใช้สมาร์ทโฟนมากเกินไปของพวกเขาเช่นกัน โดย 54% ของวัยรุ่นอเมริกันพบว่า พวกเขาใช้เวลากับมือถือตัวเองมากไป และ 52% บอกว่าพวกเขาหาทางลดเวลาในการใช้มือถือลง

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Network สอบถามข้อมูลจากนักเรียนมัธยมปลายในสหรัฐฯ 59,397 คน และพบว่า มีเพียง 5% ของนักเรียนกลุ่มนี้ที่จำกัดเวลาจดจ่อหน้าจอมือถือ และจัดสรรเวลาสำหรับการนอนหลับและออกกำลังกายได้เหมาะสม

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Pediatrics การใช้เวลากับมือถือมากไป นำไปสู่ความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ตามมา จากการศึกษาวัยรุ่น 3,826 ราย ที่พบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์และดูโทรทัศน์กับภาวะอาการของโรคซึมเศร้า ขณะที่การใช้เวลาบนหน้าจออิเล็กทรอนิกส์มากไป ทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วนและเบาหวานมากขึ้นด้วยเช่นกัน

มาถึงตรงนี้แล้ว อยากถามทุกท่านอีกครั้งว่า “คุณจะยอมเสียเวลาชีวิตไปเกือบ 10 ปี เพื่อเอาแต่จ้องหน้าจอมือถือหรือไม่?”

XS
SM
MD
LG