ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์เตือนความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมจาก 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำของจีน' ในทะเลจีนใต้


The Russian "Academy Lomonosov," the world's first floating nuclear power plant, passes Langeland island, while heading for Murmansk in northwestern Russia, May 4, 2018.
The Russian "Academy Lomonosov," the world's first floating nuclear power plant, passes Langeland island, while heading for Murmansk in northwestern Russia, May 4, 2018.

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในรายงานประจำปีต่อรัฐสภาไม่นานนี้ว่า จีนวางแผนที่จะติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ในทะเลจีนใต้ โดยทางการปักกิ่งได้ตั้งเป้าที่จะให้โครงการดังกล่าวผลิตไฟฟ้าได้ในอีกสองปีจากนี้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า โครงการของจีนที่ว่านี้น่าจะสร้างความกังวลด้านการเมืองระหว่างประเทศ และอาจมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสร้างแท่นลอยน้ำที่ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานปรมาณู เป็นสัญญาณของการยกระดับการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้โดยรัฐบาลปักกิ่ง

จีนมีประเทศคู่กรณีในพื้นที่ทับซ้อนนี้หลายประเทศ ซึ่งประกอบด้วย บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม และที่ผ่านมา จีนได้ส่งกองกำลังทหารไปสู่พื้นที่หลายแห่งในทะเลจีนใต้

นักวิเคราะห์ คอลลิน โกะห์ (Collin Koh) จากมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ที่สิงคโปร์ เห็นว่า ความพยายามล่าสุดนี้จะเอื้ออำนวยต่อการอ้างสิทธิ์ควบคุมพื้นที่ในทะเลจีนใต้

สื่อจีนรายงานเมื่อสองปีก่อน ว่าทางการปักกิ่งอาจจะติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำมากถึง 20 เครื่อง เพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าฐานลอยน้ำเหล่านั้นจะอยู่บริเวณหมู่เกาะพาราเซล (Paracel) ซึ่งมีเวียดนามเป็นคู่กรณีที่สำคัญ หรือหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ (Spratly) ที่อยู่ทางใต้ ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนโดยรัฐบาลหกประเทศ

ขณะนี้มีชาวจีนกว่า 1,000 คนอาศัยอยู่บนเกาะ Woody ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะพาราเซล และทางการจีนมีเป้าหมายพัฒนาบริเวณดังกล่าวเพื่อการท่องเที่ยว

ส่วนที่หมู่เกาะสแปร็ตลีย์ จีนก่อสร้างสถานที่สำหรับกิจกรรมของกองทัพอากาศ สถานที่ดังกล่าวสามารถรับเครื่องบินทิ้งระเบิดและเป็นศูนย์เติมน้ำมันของเครื่องบินได้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในมุมมองของสหรัฐฯ การที่จีนจะมีเทคโนโลยีพลังงานปรมาณู น่าจะเป็นเหตุผลให้อเมริกาต้องการส่งสัญญาณเตือนจีนเพิ่มเติม ด้วยการส่งเรือเข้าน่านน้ำดังกล่าว

สำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาจารย์ โอ ไอ ซัน (Oh Ei Sun) จากมหาวิทยาลัยนานยางที่สิงคโปร์ กล่าวว่า ในทางเทคนิค ฐานลอยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์สามารถทำได้ เพราะไม่น่าจะแตกต่างจากการทำงานของเรือบรรทุกเครื่องบินที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานปรมาณู

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ คอลลิน โกะห์ ระบุว่ามีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสูง หากพิจารณาว่าเทคโนโลยีของจีนอาจไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ถือว่าดีที่สุดของโลก

ท้ายสุด อาจารย์ เจย์ บาตองบาคัล (Jay Batongbacal) จาก University of Philippines กล่าวว่า หากจีนสามารถติดตั้งแท่นลอยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานปรมาณูได้สำเร็จ จะเป็นการยากที่จะหยุดยั้งโครงการดังกล่าวในภายหลัง

เขาบอกว่า ความหวังที่ดีที่สุดของประเทศที่ไม่เห็นด้วยขณะนี้ คือการกดดันให้จีนไม่เดินหน้าโครงการนี้ได้แต่เนิ่นๆ

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Ralph Jennings)

XS
SM
MD
LG