ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ล็อกดาวน์ หรือ วัคซีน – ทางที่ต้องเลือกของ 3 ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกเพื่อต้านโควิด


New Zealand Prime Minister Jacinda Ardern receives the first Pfizer COVID-19 vaccine at the Manurewa Vaccination center in Auckland, New Zealand Friday, June 18, 2021. (Alex Burton/NZ Herald via AP)
New Zealand Prime Minister Jacinda Ardern receives the first Pfizer COVID-19 vaccine at the Manurewa Vaccination center in Auckland, New Zealand Friday, June 18, 2021. (Alex Burton/NZ Herald via AP)
Lockdown or Vaccines
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:04 0:00


การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลนานาประเทศต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ 3 ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกที่ผ่านช่วงปีแรกของวิกฤตโคโรนาไวรัสมาได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงระลอกใหม่ที่ทำให้รัฐบาลเลือกเส้นทางการรับมือการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

เชอริล ซิมป์สัน มีแผนที่จัดงานวันครบรอบอายุ 60 ปีพร้อมเพื่อนๆ แต่กลับต้องฉลองวันเกิดของตนตามลำพังอยู่ในบ้านที่เมืองโอ๊คแลนด์ หลังรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้รับรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 รายที่ไม่ได้เป็นผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และตัดสินใจประกาศดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะที่หลายคนมองว่า การดำเนินมาตรการเช่นนั้นดูรุนแรงและเข้มงวดเกินไป ประชาชนชาวนิวซีแลนด์โดยทั่วไปกลับสนุนมาตรการนี้ เพราะมองว่า ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา

ซิมป์สัน ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจศูนย์ดูแลสุนัขที่ต้องปิดให้บริการไปก่อน เพราะรายงานการพบผู้ติดเชื้อล่าสุด บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เธอยินดีที่จะเห็นการทำการล็อกดาวน์ แม้ว่าส่วนตัวจะไม่ได้ชอบนักก็ตาม แต่เพราะต้องการให้นิวซีแลนด์กำจัดไวรัสนี้ไปให้ได้มากกว่า

ขณะเดียวกัน การระบาดของโควิด-9 ที่ญี่ปุ่นซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นทำสถิติไปแล้ว ไม่ได้ทำให้รัฐบาลกรุงโตเกียวตัดสินใจทำการล็อกดาวน์แต่อย่างใด แต่กลับเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นการด่วน

ส่วนที่ออสเตรเลีย ซึ่งมีปัญหาการระบาดระลอกใหม่อยู่เช่นกัน กลับเลือดดำเนินมาตรการที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้แทน

อันที่จริง นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ผ่านพ้นช่วงปีแรกของวิกฤตโควิด-19 มาได้โดยไม่ค่อยมีปัญหา แต่ในเวลานี้ ต้องตัดสินใจเลือกหนทางต่างๆ เพื่อรับมือการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลตา ที่แพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเริ่มยอมรับแล้วว่า การกำจัดโคโรนาไวรัสให้สูญสิ้นไปเลยนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ และสิ่งที่ต้องทำก็คือ การจัดการให้อยู่มือเท่านั้น​

ศาสตราจารย์ ไมเคิล เบเกอร์ นักระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ประเทศต่างๆ กำลังมีปัญหาปรับตัวรับมือการระบาดของภัยคุกคามรอบใหม่นี้อยู่ เพราะ “วิธีการเก่าๆ ไม่สามารถใช้ได้ กับเชื้อสายพันธุ์เดลตา” นั่นเอง

แต่นโยบายที่แตกต่างกัน ว่าจะเน้นเรื่องการล็อกดาวน์ หรือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยหวังว่าจะเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพมากพอในการเอาชนะการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนที่มากกว่ารัฐบาลแต่ละประเทศหวังไว้ก็เป็นได้

นับตั้งแต่เกิดการระบาดมา ญี่ปุ่นไม่เคยสั่งทำการล็อกดาวน์แม้แต่ครั้งเดียว เพราะรัฐธรรมนูญของประเทศที่ร่างขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้การปกป้องเสรีภาพพลเมืองอย่างเข้มงวด โดยก่อนที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาจะกำเนิดขึ้น รัฐบาลกรุงโตเกียวพอจะควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสได้พอควร เพราะประชาชนในประเทศคุ้นเคยกับสวมหน้ากากป้องกันอาการแพ้เกสรดอกไม้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือในช่วงที่มีอาการหวัดอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ ภาพประชาชนเกือบทุกคนสวมหน้ากากระหว่างใช้บริการขนส่งสาธารณะในระหว่างวันจึงเป็นสิ่งที่คุ้นตากันอยู่แล้ว แต่เมื่อตกค่ำ ผู้คนมักจะมุ่งหน้าไปตามภัตตาคารและบาร์ และถอดหน้ากากเพื่อสังสรรค์ตามอัธยาศัย ซึ่งก็กลายมาเป็นโอกาสที่เชื้อเดลตาจะแพร่กระจายง่ายขึ้น ขณะที่ การเดินหน้าเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่เพิ่งผ่านพ้นไป ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปได้อีก

Tokyo Olympic Games
Tokyo Olympic Games

ดร.ชิเงรุ โอมิ ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวว่า ขณะที่รัฐบาลดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันอันแสนเข้มงวดในพื้นที่จัดการแข่งขันไว้ที่ขั้นต่ำ บรรยากาศภายนอกสนามยิ่งแย่กว่า เพราะอารมณ์รื่นเริงที่รัฐบาลนำเสนอออกมาทำให้ประชาชนในญี่ปุ่นมีอาการการ์ดตก

ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จำนวนเฉลี่ยผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 25,000 ราย ซึ่งสูงกว่าตัวเลขสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ถึงกว่า 3 เท่า และ ดร.โอมิ มองว่า นี่คือหายนะดีๆ นั่นเอง

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูกะ เพิ่งสั่งขยายการบังคับใช้คำสั่งภาวะฉุกเฉินที่มีผลในพื้นที่กรุงโตเกียวและอีกหลายพื้นที่ไปจนถึงกลางเดือนกันยายนเป็นอย่างเร็ว แม้ว่าในความเป็นจริง คำสั่งจำกัดต่างๆ ไม่ได้มีผลทางกฎหมายก็ตาม

ผู้ว่าการจังหวัดต่างๆ ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ซูกะ พิจารณาดำเนินมาตรการที่เข้มงวดกว่าที่มีอยู่ แต่ผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวว่า ผู้คนทั่วโลกมีปัญหากับคำสั่งล็อกดาวน์มาตลอด ดังนั้น การเร่งฉีดวัคซีน “คือหนทางเดียวเท่านั้น”

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัตราการฉีดวัคซีนรายวันในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยสำนักงานหลายแห่งรวมทั้งสถาบันการศึกษาทั้งหลายเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนด้วย แต่การที่รัฐบาลเริ่มโครงการแจกจ่ายวัคซีนที่ค่อนข้างช้ากว่าประเทศอื่นๆ ทำให้การดำเนินแผนงานนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยปัจจุบัน สัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่ราว 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศ

ส่วนที่ออสเตรเลียนั้น มีการตรวจพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาเมื่อเดือนมิถุนายน ในพนักงานขับรถลีมูซีนรายหนึ่งที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และรับหน้าที่ขับรถพาเจ้าหน้าที่คลังสินค้าทางอากาศของสหรัฐฯ ออกจากสนามบินในนครซิดนีย์ แต่ทางการกลับลังเลและรอถึง 10 วันกว่าจะตัดสินใจประกาศดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ทั่วเมือง ซึ่งลากยาวมาเป็นเวลา 2 เดือนในที่สุด

COVID-19 lockdown restrictions affect vulnerable communities in southwest Sydney
COVID-19 lockdown restrictions affect vulnerable communities in southwest Sydney

ในช่วงแรกของการระบาดนั้น รัฐบาลกลางออสเตรเลียเคยสั่งดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ 1 ครั้ง และเมื่อมีการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา รัฐบาลตัดสินใจดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อระงับการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งรวมถึงการควบคุมการเดินทางออกนอกประเทศของชาวออสเตรเลีย และการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้นำแต่ละรัฐทำการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเอง

ในเวลานี้ อัตราการติดเชื้อในนครซิดนีย์พุ่งขึ้นมาถึงระดับกว่า 800 รายต่อวัน จากตัวเลขไม่กี่คนเมื่อสัปดาห์ก่อนแล้ว

แกลดิส เบเรจิเคลียน นายกรัฐมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งเป็นรัฐที่ตั้งของนครซิดนีย์ ยอมรับว่า การกำจัดเชื้อไวรัสให้สิ้นซากนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว และสิ่งที่ทำได้ก็คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสนี้ และนั่นคือเหตุผลที่ทางการรัฐตัดสินใจดำเนินมาตรการ 2 แพร่ง ที่เน้นการลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ พร้อมๆ กับการเพิ่มจำนวนผู้รับวัคซีน ด้วยเป้าหมายที่จะทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้อีกครั้งในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อัตราการฉีดวัคซีนในออสเตรเลียยังต่ำกว่าของญี่ปุ่นอย่างมาก โดยตัวเลขล่าสุดระบุว่า สัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วอยู่ที่เพียง 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลนิวซีแลนด์เร่งสั่งดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดทันทีที่เกิดการระบาดระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว และแผนงานนั้นทำให้ทางการสามารถกำจัดไวรัสไปได้จนหมดสิ้น ส่งผลให้ประเทศที่มีประชากรเพียง 5 ล้านคนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกว่าสามารถกำจัดภาวะระบาดใหญ่ได้สำเร็จ โดยมีผู้เสียชีวิตไปทั้งสิ้น 26 คน

ในช่วง 6 เดือนต่อมา นิวซีแลนด์ไม่ตรวจพบเชื้อโคโรนาไวรัสอีกเลย และประชาชนสามารถใช้ชีวิตตามปกติเหมือนก่อนเกิดการระบาดใหญ่ได้ด้วย

แต่ในเดือนสิงหาคมนี้เอง นิวซีแลนด์ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์เดลตาจากผู้ที่เดินทางมาจากนครซิดนีย์ และนายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น ตัดสินใจสั่งดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศทันที

รายงานข่าวระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศนี้เพิ่มขึ้นเป็น 72 รายในวันอาทิตย์ และมีการพบเชื้อไวรัสเดลตาในพื้นที่กรุงเวลลิงตัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงแล้วด้วย ขณะที่ เจ้าหน้าที่รัฐกำลังเร่งติดตามตัวประชาชนราว 10,000 คนที่มีความเสี่ยงติดเชื้ออยู่

ศาสตราจารย์ ไมเคิล เบเกอร์ นักระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ เชื่อว่า นิวซีแลนด์ยังมีโอกาสที่จะจำกัดไวรัสให้สิ้นซากได้สำเร็จอีกครั้ง แต่นั่นยังเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องรอดูกันต่อไป

แต่หากสถานการณ์เกิดรุนแรงขึ้น นิวซีแลนด์อาจตกอยู่ในฐานะลำบาก เพราะรายงานล่าสุดโดยที่ปรึกษาของรัฐบาลระบุว่า โรงพยาบาลในประเทศไม่ได้มีแผนกดูแลผู้ป่วยพิเศษและเตียงสำหรับคนไข้มากนัก ดังนั้น การระบาดใหญ่อาจทำให้ระบบสาธารณสุขของนิวซีแลนด์รับมือไม่ทัน

ในด้านการฉีดวัคซีนนั้น นิวซีแลนด์ถือเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ช้าที่สุด โดยในปัจจุบัน มีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

XS
SM
MD
LG