ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานพิเศษ: สัมภาษณ์คนไทยในสหรัฐฯ ผู้กำลังรอคอย “เงินบรรเทาทุกข์โควิด” จากรัฐบาลครั้งที่สอง


Natcha Morrow, once a Thai co-owner of sightseeing tour company in Los Angeles, sews fabric masks for sale as her alternative source of income during COVID-19 pandemic
Natcha Morrow, once a Thai co-owner of sightseeing tour company in Los Angeles, sews fabric masks for sale as her alternative source of income during COVID-19 pandemic

นับเป็นเวลาเกือบห้าเดือนแล้วตั้งแต่ที่สภาคองเกรสอนุมัติกฎหมายเงินช่วยเหลือจากผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ผู้ที่มีถิ่นพำนักในสหรัฐฯ ที่เสียภาษีและมีรายได้ไม่เกินปีละ 75,000 ดอลลาร์ โดยมอบเงินก้อนให้คนละ 1,200 ดอลลาร์ ในขณะที่ยังมีการจับตามองว่านักการเมืองพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันจะหาข้อตกลงของกฎหมายเพื่อผ่านเงินช่วยเหลือก้อนที่สองได้เมื่อใด ผู้มีเชื้อสายไทยในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งก็กำลังรอคอยเงินช่วยเหลือก้อนที่กำลังจะมาถึง ที่พวกเขาบอกว่า“ถึงจะไม่มากนักแต่ก็พอช่วยต่อลมหายใจได้”

“ถ้าเขาสามารถ (ให้เงินตามอัตราค่าครองชีพ) ได้ จะช่วยได้มาก เพราะคนที่แอลเอรับ 1,200 เหรียญ มันน้อยน่ะ ค่าใช้จ่ายของสตูดิโออพาร์ทเมนท์ที่นี่ก็ 1,400-1,500 เหรียญ (ต่อเดือน) เข้าไปแล้ว "


ณัฐชา มอร์โรว์ ชาวไทยในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียวัย 43 ปี กล่าวถึงเงินช่วยเหลือที่ทั้งครอบครัวของเธอเคยได้รับเมื่อเดือนเมษายน ภายใต้กฎหมาย Coronavirus Aid, Relief and Economic Security Act หรือ CARES Act เป็นเงิน 3,400 ดอลลาร์ โดยเธอและสามีได้รับคนละ 1,200 ดอลลาร์ และลูกชายวัย 10 และ 12 ปีได้รับคนละ 500 ดอลลาร์

เงินจำนวน 3,400 ดอลลาร์อาจดูเป็นจำนวนพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับค่าเช่าบ้านของครอบครัวเธอในเมืองใหญ่อย่างนครลอสแอนเจลิสเพียงอย่างเดียวที่อยู่ที่เดือนละ 3,500 ดอลลาร์ ก็เห็นได้ชัดว่าเงินจำนวนดังกล่าว “ไม่พอ”

นอกจากนี้ ณัฐชายังมีค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทางธุรกิจของบริษัททัวร์ที่เธอกับสามีเคยเปิดร่วมกันมากว่าสิบปี และต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่เดือนมีนาคมจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยในขณะที่ไม่มีรายได้เข้ามาเพิ่ม แต่บริษัทของเธอยังต้องแบกภาระรายจ่าย เช่น ค่าเช่าที่จอดรถ ค่าเงินประกันรถทัวร์ ที่เธอใช้วิธีคุยกับเจ้าหนี้เผื่อผ่อนผันหนี้ โดยต้องยอมแลกกับดอกเบี้ยที่จะเพิ่มสูง

Natcha Morrow (left), a Thai co-owner of sightseeing tour company in Los Angeles stands in front of tour van with her American husband Mark Morrow
Natcha Morrow (left), a Thai co-owner of sightseeing tour company in Los Angeles stands in front of tour van with her American husband Mark Morrow


ธุรกิจของเธอเคยได้รับเงินกู้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อม (U.S Small Business Administration) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือภายใต้กฎหมาย CARES Act เช่นกัน แต่เธออธิบายสถานการณ์ตอนนี้ว่า ตราบใดที่ธุรกิจยังเปิดไม่ได้ หาเงินมาถมเท่าไหร่ ก็เหมือนเอาเงินมาถมทะเล ไม่มีวันพอ


“รายได้ที่เคยได้ตายตัวเดือนละ 15,000 ดอลลาร์ ตอนนี้หายไปเลย....เงินเก็บที่มีก็ใช้หมดแล้วเหมือนกัน” ณัฐชาอธิบายสถานการณ์ทางการเงินของเธอสั้นๆ

จนถึงเดือนที่ผ่านมา ทั้งครอบครัวของณัฐชาอยู่ได้ด้วยเงินช่วยเหลือผู้ตกงานพิเศษสัปดาห์ละ 600 ดอลลาร์อยู่ภายใต้ CARES Act รวมกับเงินช่วยเหลือผู้ตกงานที่ได้สัปดาห์ละ 450 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นเฉพาะส่วนของเธอเท่านั้น ส่วนในส่วนของสามีเธอ มีผู้พยายามเปลี่ยนข้อมูลที่อยู่ของสามีเธอจนทำให้ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือผู้ตกงานพิเศษจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ มอบเงินช่วยเหลือดังกล่าว

เมื่อวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งผู้นำฝ่ายบริหารยืดระยะการให้เงินช่วยเหลือผู้พิเศษแก่ไม่มีงานทำต่อไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564 อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำสั่งตัวใหม่ เงินช่วยเหลือพิเศษจะลดลงจาก 600 ดอลลาร์เหลือ 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์

เนื่องจากเป็นการให้เงินภายใต้ระบบใหม่ ที่ทางรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะอุดหนุนเงิน 300 ดอลลาร์ และทางรัฐบาลของแต่ละรัฐจะออกอีก 100 ดอลลาร์ ซึ่งก็ยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการจัดการงบของแต่ละรัฐอีก จึงยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ผู้มีสิทธิ์ถึงจะเริ่มได้รับเงินชุดใหม่นี้

Natcha Morrow, a 43-year-old Thai co-owner of sightseeing tour company in Los Angeles
Natcha Morrow, a 43-year-old Thai co-owner of sightseeing tour company in Los Angeles

เงิน 400 ดอลลาร์ เป็นจำนวนเงินที่ณัฐชาบอกว่าพอซื้ออาหารสำหรับทั้งครอบครัวเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งระหว่างรอเงินช่วยเหลือผู้ตกงานพิเศษ ณัฐชาก็ทำอาชีพเสริม เช่น เย็บหน้ากากอนามัยขาย ช่วยเปิดบ้านให้ลูกค้าของนายหน้าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รายได้ชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์ ตกสัปดาห์ละ 4-5 ชั่วโมง ส่วนสามีก็รับงานพากย์เสียง ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับรายได้เดิมที่ครอบครัวเธอเคยได้รับ

ครอบครัวของเธออาจได้รับเงินก้อนช่วยเหลือ 3,400 ดอลลาร์อีกครั้ง โดยเงินก้อนนี้อาจอยู่ภายใต้กฎหมาย Health and Economic Recovery Omnibus Emergency Solutions Act (HEROES Act) ที่สภาล่างที่มีสมาชิกพรรคเดโมแครตเป็นส่วนใหญ่อนุมัติมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาสูงที่มีสมาชิกพรรคริพับลิกันเป็นส่วนใหญ่ โดยทางพรรคริพับลิกันได้เสนอกฎหมายอีกตัวคือ Health, Economic Assistance, Liability Protection and Schools (HEALS Act) เมื่อเดือนที่ผ่านมา และขณะนี้ทั้งสองพรรคก็ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าจะสรุปเคาะกฎหมายเงินช่วยเหลือออกมาอย่างไร

การที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้นี่เอง ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อปล่อยเงินส่วนหนึ่งออกไปกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน โดยนอกจากเงินพิเศษแก่ผู้ตกงาน 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์แล้ว ยังรวมถึงการผ่อนผันระยะเวลาเสียภาษีเงินเดือน การช่วยนักเรียนที่กู้เงินสำหรับการศึกษา และเพิ่มการคุ้มครองผู้เช่าบ้านที่อาจถูกเจ้าของบ้านไล่ออก

ทางด้านกันตพัฒน์ ไวยพันธ์ ผู้จัดการร้านซูชิในเมืองซัลท์ เลค ซิตี้ รัฐยูทาห์วัย 30 ปี ที่ตอนนี้ก็กลายเป็นผู้ว่างงานเพราะร้านยังไม่เปิดกิจการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ก็เป็นอีกคนเช่นกันที่กำลังรอคอยเงินช่วยเหลือก้อนใหม่จากทางรัฐบาลอยู่

กันตพัฒน์อาศัยอยู่กับสามีชาวอเมริกันที่พิการทางสายตากับสุนัขหนึ่งตัว แม้สามีของเธอจะได้รับเบี้ยเลี้ยงผู้พิการรายเดือนทำให้ไม่ต้องใช้เงินเก็บส่วนกลางเพื่อการดูแลเขามากนัก แต่การที่กันตพัฒน์ที่เป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัวคนเดียว และตอนนี้ไม่มีงานทำ เธอก็ยอมรับว่าสถานการณ์การเงินที่บ้าน “ฝืดเคือง”

Kantaphat Waiyapan, a 30-year-old Thai sushi restaurant manager in South Lake City, Utah
Kantaphat Waiyapan, a 30-year-old Thai sushi restaurant manager in South Lake City, Utah

“ตอนที่ยังได้ 600 (ดอลลาร์) ที่เป็นเอ็กซ์ตร้าที่เขาเพิ่งตัดไปเมื่อเดือนที่แล้ว ก็ได้พอดีกันกับที่เคยได้ แต่พอเงินส่วนนั้นหายไปแล้ว รายได้หายไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์” กันตพัฒน์เล่า เธอเป็นอีกคนที่ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือผู้ตกงานพิเศษ 600 ดอลลาร์ที่หมดรอบให้ไปเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา

“2,400 ดอลลาร์ที่เคยได้มา เราคุยกับสามีว่า เงินส่วนนี้พอขึ้นเงินเสร็จ เราจ่ายบิลที่เราร่วมกันจ่าย ที่มันค้างๆ อยู่ตอนที่เราไม่ได้ไปทำงาน จ่ายส่วนนั้นไปประมาณ 40% ที่เหลือแบ่งกันคนละครึ่ง” กันตพัฒน์เล่าถึงการจัดการเงินช่วยเหลือครั้งที่แล้วที่เธอและสามีได้คนละ 1,200 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเธอเองกลับได้เป็นเช็คในเดือนมิถุนายน ซึ่งช้ากว่าผู้มีสิทธิ์ส่วนใหญ่ที่ไ้ดรับผ่านการโอนตรงเข้าบัญชีมาตั้งแต่เดือนเมษายน

ในส่วนของผู้ที่ยังคงมีงานประจำทำอย่าง สัมฤทธิ์ ยอดแก้ว ชาวไทยในเมืองเวสต์ ปาล์ม บีช รัฐฟลอริดา อายุ 36 ปี ที่เป็นพนักงานปั้นซูชิเพื่อส่งไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เธอก็ไม่ได้ทำงานที่สองของเธอที่เป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ทำมาสิบกว่าปีมาตั้งแต่เดือนมีนาคม เพราะร้านปิดตัวลงจากการระบาดของไวรัส

ขณะนี้สัมฤทธิ์มีรายได้จากการปั้นซูชิเพียงสัปดาห์ละ 25 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้รายได้ของเธอลดลงไปจากเดือนละ 4,000-5,000 พันดอลลาร์ เป็นได้เพียงเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ ซึ่งอาจเป็นรายได้ที่น้อยกว่าเงินช่วยเหลือจากทางรัฐสำหรับผู้ตกงาน แต่เธอเห็นว่าการมีงานทำอย่างไรก็มั่นคงกว่าและไม่ต้องเสี่ยงเมื่อทางรัฐหยุดให้เงินช่วยเหลือพิเศษผู้ตกงานแล้ว

Samrit Yotkaeo, a 36-year-old Thai sushi maker in West Palm Beach, Florida
Samrit Yotkaeo, a 36-year-old Thai sushi maker in West Palm Beach, Florida

สัมฤทธิ์และคู่ครองชาวอเมริกันที่ยังมีงานทำเช่นกัน ก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯคนละ 1,200 ดอลลาร์เช่นกัน โดยตกลงกันว่าต่างคนต่างจัดการเงินส่วนของตัวเองกัน

“เอาจริงมันก็ไม่พอค่ะ เงินจำนวนนั้นใช้ได้แค่หนึ่งเดือน เราต้องดูแลครอบครัวที่ไทยด้วย ถ้าได้มาอีก 1,200 ดอลลาร์ก็จะเอามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างประหยัดที่สุดค่ะ” สัมฤทธิ์กล่าว พร้อมเสริมว่าเธอ “กังวลมาก” กับการระบาดของไวรัสในฟลอริดาที่พุ่งสูงขึ้น

“ไม่จำเป็นต้องให้เงินช่วยเหลือรอบสอง ให้เงินมากไป คนก็ไม่กลับไปทำงาน” : มุมมองจากนักวิชาการ

ไมเคิล บัสเลอร์ นักวิเคราะห์นโยบายสาธารณะและอาจารย์ด้านการเงิน มหาวิทยาลัยสต็อกตัน กลับเห็นว่า การที่รัฐให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือผู้ตกงานเพิ่มขึ้น 600 ดอลลาร์ จนทำให้ผู้ตกงานราว 68 เปอร์เซ็นต์ได้เงินช่วยเหลือรวมกันมากกว่าเงินที่ได้จากการทำงาน ทำให้ลูกจ้างไม่กลับไปทำงานกันเมื่อนายจ้างเรียกตัวกลับไป และทำให้ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนหนึ่งไปต่อไม่ได้

“เงินช่วยเหลือพิเศษ 400 ดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งอนุมัติ เพียงพอที่จะช่วยจุนเจือผู้ที่ตกงานได้ แต่ก็ไม่พอที่จะอยู่ได้โดยอยู่แต่กับบ้านเฉยๆ” บัสเลอร์กล่าวกับวีโอเอไทยผ่านการสัมภาษณ์ทางอีเมล

“ผมเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะเราต้องหาวิธีจูงใจให้คนไปทำงาน ไม่ใช่จูงใจให้คนอยู่แต่กับบ้าน เศรษฐกิจจะไปต่อได้ ต้องให้คนออกมาทำงานกันให้ได้มากที่สุด”

แม้ชาวไทยในสหรัฐฯ ที่วีโอเอไทยทำการสัมภาษณ์ จะบอกว่าพวกเธอรอคอยเงินช่วยเหลือแก่ผู้เสียภาษีในสหรัฐฯ จำนวน 1,200 ดอลลาร์ระลอกที่สอง แต่บัสเลอร์กลับมองในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ว่า เงินกระตุ้นระลอกสองที่อาจมีมูลค่าสูง 2 ล้านล้านดอลลาร์นี้ “ไม่จำเป็น”

เขาอธิบายว่า ในขณะที่เงินช่วยเหลือระลอกแรกอัดฉีดเม็ดเงินเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ทำให้งบขาดดุลของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านดอลลาร์เช่นกัน โดยเม็ดเงินดังกล่าวเพิ่มการจ้างงาน 2 ล้าน 8 แสนตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 4 ล้าน 6 แสนตำแหน่งในเดือนมิถุนายน และ 1 ล้าน 8 แสนตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสูงกว่าสถิติจ้างงานสูงสุดที่เคยบันทึกก่อนหน้านี้เมื่อช่วงคริสตศตวรรษที่ 1980 ซึ่งตอนนั้นตัวเลขอยู่ที่ 1 ล้าน 3 แสนตำแหน่งต่อเดือน

แม้ในเดือนมีนาคมและเมษายน ที่หลายรัฐในสหรัฐฯ ทำการปิดเมืองจนประชาชนกว่า 20 ล้านคนตกงาน แต่บัสเลอร์ก็มองว่า อัตราการจ้างงานในช่วงสามเดือนต่อจากนั้นก็เป็นอัตราที่สูง โดยผู้ที่เคยตกงานเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ก็ได้กลับไปทำงานอีกครั้ง

“เนื่องจากมีงบขาดดุลมากแล้ว ทางรัฐบาลไม่จำเป็นต้องให้เงินช่วยเหลือรอบสองอีก” บัสเลอร์กล่าว “อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมมองทางการเมืองแล้ว ก็คงมีการผ่านกฎหมายหรือผ่านคำสั่งผู้นำฝ่ายบริหารอีกครั้ง”



รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai

XS
SM
MD
LG