ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในอินเดียกลัวถูกจับ-ส่งตัวกลับประเทศ


แฟ้มภาพ: ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ร่วมกันยืนสวดภาวนา ที่ด้านหน้าที่ทำการ UNHCR เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก เมื่อ 20 มิ.ย. 2566
แฟ้มภาพ: ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ร่วมกันยืนสวดภาวนา ที่ด้านหน้าที่ทำการ UNHCR เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก เมื่อ 20 มิ.ย. 2566

ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่อพยพหลบภัยสงครามกลางเมืองไปยังอินเดียแสดงความกังวลกับ วีโอเอ ว่า เริ่มมีกระแสความกลัวในกลุ่มผู้อพยพว่า จะถูกตำรวจอินเดียจับกุมตัวและบังคับส่งกลับประเทศบ้านเกิด หลังมีการดำเนินการดังกล่าวในรัฐมณีปุระเมื่อเร็ว ๆ นี้

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทางการรัฐมณีปุระประกาศส่งตัว “ผู้อพยพผิดกฎหมายจากเมียนมา” จำนวน 77 คนกลับประเทศ โดยมีการระบุว่า นี่คือ “เฟสแรก” ของปฏิบัติการนี้

เอ็น บิเรน ซิงห์ มุขมนตรีแห่งรัฐมณีปุระ โพสต์ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์เมื่อพุธที่แล้วว่า ขณะนี้ กำลังมี “การเตรียม” กระบวนการส่ง “ผู้อพยพผิดกฎหมาย” อีกกว่า 5,400 คนกลับประเทศอยู่

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยว่า ผู้ลี้ภัยเกือบ 60,000 คนได้หนีตายมายังอินเดีย ตั้งแต่เมื่อกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้งมาเมื่อปี 2021 ซึ่งตามมาด้วยสงครามกลางเมืองนองเลือดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

รายงานข่าวระบุว่า ผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าวกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดทางตะวันออกไกลของอินเดียซึ่งติดกับชายแดนเมียนมา แต่ทางการมณีปุระคือ ส่วนที่ดำเนินการเชิงรุกมากที่สุดด้วยการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศ โดยอ้างว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือ สาเหตุของเหตุการณ์ปะทะรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อินเดียไม่มีกฎหมายยอมรับผู้ลี้ภัยและไม่ได้ลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยของยูเอ็นด้วย

หลังเริ่มมีการการส่งตัวกลับประเทศ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในมณีปุระบอกกับ วีโอเอ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนหวาดวิตกกังวลอย่างมาก และบางคนก็เริ่มย้ายที่อยู่เพื่อหลบการตามจับของรัฐบาลอินเดียแล้ว

ผู้ลี้ภัยสองคนที่พูดคุยกับวีโอเอ ซึ่งก็ สิทาง เฮาคิป จากรัฐชิน ที่ข้ามพรมแดนเข้ามาอินเดียโดยผิดกฎหมายเมื่อ 2 ปีก่อน หลังเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารและช่วยจัดการประท้วงหยุดงานด้วย และ เมียว ซึ่งพาภรรยาและลูกชายหนีมาอินเดียหลังร่วมการทำอารยะขัดขืนต้านกองทัพเมียนมาเช่นกัน

ทั้งสองคนกล่าวว่า ต่างรู้สึกตื่นกลัวตลอดเวลา ตั้งแต่มีข่าวการส่งตัวผู้ลี้ภัยเมียนมากลับประเทศ และรู้สึกว่า อินเดียไม่ใช่ที่ ๆ ปลอดภัยอีกต่อไป

ผู้ชี้ภัยชาวเมียนมาที่หนีเหตุความรุนแรงจากรัฐชิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา กำลังดูภาพและคลิปวิดีโอบ้านเรือนที่ถูกเผามอดไหม้ เมื่อ 13 ธ.ค. 2564
ผู้ชี้ภัยชาวเมียนมาที่หนีเหตุความรุนแรงจากรัฐชิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา กำลังดูภาพและคลิปวิดีโอบ้านเรือนที่ถูกเผามอดไหม้ เมื่อ 13 ธ.ค. 2564

องค์กรฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ กล่าวว่า ทางการอินเดียควรอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาศัยอยู่ในประเทศจนกว่าสถานการณ์ในบ้านเกิดของพวกเขาจะปลอดภัยพอที่จะเดินทางกลับได้

มีนาคชิ กันกูลี รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ บอกกับ วีโอเอ ว่า “ทางการอินเดียควรปกป้องสิทธิของพวกเขา(ผู้ลี้ภัย)” และว่า “แม้อินเดียจะไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย (อินเดีย)ก็ยังมีภาระผูกพันที่จะไม่ใช้กำลังส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับเมียนมา ที่ซึ่งยังมีความเสี่ยงอย่างสูงต่อชี้วิตและเสรีภาพของพวกเขา”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) กล่าวว่า อินเดียมีพันธะภายใต้อนุสัญญาฉบับอื่นที่ได้ลงนามไว้ ที่จะไม่บีบบังคับให้ผู้คนกลับไปยังประเทศของตน หากนั่นหมายถึงอันตรายต่อชีวิตของพวกเขา โดยคณะกรรมการดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้ทางการอินเดียหยุดการส่งตัวผู้ลี้ภัยเมียนมากลับประเทศด้วย

วีโอเอได้ติดต่อไปยังรัฐบาลรัฐมณีปุระและมุขมนตรีแห่งมณีปุระเพื่อขอสัมภาษณ์ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับขณะจัดทำรายงานนี้

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG