ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การเก็บข้อมูลต่างด้าว กระทบชาวเมียนมาในไทย


ผู้คนข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ที่อ.แม่สอด จ.ตาก ของไทย เมื่อ 12 เม.ย. 2024 (REUTERS/Athit Perawongmetha)
ผู้คนข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ที่อ.แม่สอด จ.ตาก ของไทย เมื่อ 12 เม.ย. 2024 (REUTERS/Athit Perawongmetha)

การเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ของแรงงานต่างด้าวในไทย ได้รับการยกย่องในประเทศ แต่กลับสร้างความกังวลให้กับพลเมืองชาวเมียนมารวมทั้งนักเคลื่อนไหวมากขึ้นเรื่อย ๆ

ประเทศไทยนำร่องโครงการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล หรือ ไบโอเมตริกของแรงงานต่างด้าว 5 จังหวัด เพื่อหวังปรับปรุงบริการด้านสุขภาพให้กับพลเมืองชาวเมียนมาและบุคคลไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานมากที่สุดในประเทศไทย

ข้อมูลทางชีวภาพที่ได้ทั้งการสแกนใบหน้าและม่านตา ที่เก็บข้อมูลจากบุคคลต่างด้าว 10,000 คน โครงการนี้ได้รับการยกย่องในการแก้ปัญหาเรื่องการระบุอัตลักษณ์ของคนต่างด้าว อย่างไรก็ตาม การเดินหน้ามาตรการดังกล่าวของรัฐบาลไทยกลับสร้างความกังวลให้แก่นักเคลื่อนไหวในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลคนเหล่านี้

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ มาจากกรมควบคุมโรค ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสภากาชาดไทย เป็นกำลังหลักในการเก็บข้อมูลเพื่อใช้แจกจ่ายวัคซีนเอชพีวีและโควิด-19 ซึ่งยากต่อการส่งมอบวัคซีนให้ถึงแขนของคนต่างด้าวในไทย

นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ให้ทัศนะกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า “การให้วัคซีนจะต้องให้อย่างน้อย 2-3 โดสต่อคน ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าแต่ละคนได้วัคซีนไปแล้วกี่เข็ม จึงจะสามารถฉีดเข็มต่อไปได้อย่างเหมาะสม”

การประกาศความสำเร็จของกรมควบคุมโรคในโครงการนี้ นำไปสู่การประกาศแผนขยายโครงการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลของแรงงานต่างด้าวในจังหวัดอื่น ๆ ที่สร้างความกังวลให้กับกลุ่มนักเคลื่อนไหว เนื่องจากโครงการนำร่องดังกล่าวมีเป้าหมายเก็บข้อมูลการสแกนใบหน้าและม่านตา รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลต่างด้าวราว 1 ล้านคน ใน 5 จังหวัด รวมทั้ง ตาก สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ ที่เป็นบ้านของชุมชนชาวเมียนมา ครอบคลุมตั้งแต่นักเคลื่อนไหว ผู้ที่ออกจากงานเพื่อประท้วงรัฐบาลทหาร ไปจนถึงผู้ลี้ภัยและแรงงาน

ความกังวลด้านความเป็นส่วนตัว

นพ.พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ให้ความเชื่อมั่นว่า โครงการนี้เป็นไปโดยความสมัครใจ และระบบสาธารณสุขของไทยจะไม่ปฏิเสธการรักษากับผู้คนที่ไม่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการนี้

นพ.พิชิต กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า “เมื่อเข้ารับการรักษา ณ สถานบริการสุขภาพ เจ้าหน้าที่จะสแกนใบหน้าและม่านตาของผู้ป่วยที่ไม่มีเอกสารเข้าเมืองตามกฎหมายหรือผู้พลัดถิ่นในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ต้องการฉีดวัคซีน” และว่า “จากนั้นเราจะให้เลขยืนยันตัวตน 13 หลักสำหรับแอปพลิเคชันหมอพร้อม ซึ่งหากไม่สะดวกใจให้ข้อมูลก็สามารถปฏิเสธได้ พวกเขาจะยังคงได้รับบริการสุขภาพต่อไป”

แต่นักเคลื่อนไหวบางคนยังไม่แน่ใจว่าข้อมูลไบโอเมตริกของกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้จะปลอดภัยในการบันทึกหรือเก็บข้อมูลหรือไม่อย่างไร

โฆษกโครงการอินเตอร์เน็ตของเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มที่เก็บข้อมูลด้านอินเตอร์เน็ตของเมียนมา มองว่าการรวมศูนย์ของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นปัญหาสำหรับพลเมืองชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว “สิ่งนี้เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับเราในอีกระดับหนึ่ง เราไม่รู้ว่าข้อมูลนี้จะมีการแบ่งปันไปอย่างไร .. สำหรับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาแล้ว เรารู้สึกกังวลอย่างยิ่งว่าข้อมูลลักษณะนี้จะถูกแบ่งปันให้กับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะกับฝั่งเมียนมา”

ทางสภากาชาดไทย ซึ่งรับผิดชอบด้านการจัดเก็บข้อมูลและวางนโยบายเกี่ยวกับโครงการนี้ รวมถึงวิธีการแบ่งปันข้อมูลอัตลักษณ์ของบุคคลต่างด้าว ปฏิเสธในประเด็นความเป็นไปได้เรื่องความร่วมมือข้ามชายแดน ซึ่งรวมถึงโครงการ e-ID ของรัฐบาลทหารเมียนมา

นพ.พิชิต จากสภากาชาดไทย ย้ำว่า ข้อมูลม่านตาและใบหน้าจะไม่ถูกแบ่งปันไปให้กับประเทศหรือหน่วยงานเอกชนใด ๆ อย่างไรก็ตาม ทางสภากาชาดไทย ยังคงสามารถแจ้งให้หน่วยงานรัฐหรือองค์กรด้านมนุษยธรรมได้ “ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีการเก็บข้อมูลทางชีวภาพหรือมีเลขประจำตัว 13 หลักหรือไม่ก็ตาม”

ตำรวจยังลอยนวลพ้นผิด

อีกประเด็นที่น่าจับตา คือการที่ตำรวจในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวกระจุกตัวไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำต่อบุคคลต่างด้าวในหลายกรณี ได้สร้างความกังวลว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะดำเนินการไปถึงขั้นไหนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่พวกเขาต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอข้อมูลจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า “จากประสบการณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่กองทัพมักถามข้อมูลส่วนตัวจากโรงพยาบาล .. พวกเขามีทั้งช่องทางของทางการและไม่เป็นทางการเพื่อค้นหาข้อมูลเหล่านี้ เมื่อมีจดหมายจากรัฐบาลมาเราก็ต้องปฏิบัติตาม”

ตอนนี้ทางการไทยเตรียมออกกฎหมายเพิ่มเติม โดยเสนอให้มีการจัดทำฐานข้อมูลระดับชาติ สำหรับการตรวจรหัสพันธุกรรม (DNA) และข้อมูลไบโอเมตริกของประชากร 400,000 ราย และผู้ต้องขัง 10,000 รายต่อปี

สภากาชาดกล่าวว่า พวกเขาจะไม่ยอมเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยโดยการเปิดเผยข้อมูลจากการสแกนใบหน้าหรือม่านตา “ให้กับตำรวจหรือหน่วยงานอื่นใด” ในทุกกรณี อย่างไรก็ตาม สภากาชาดเสริมว่า ถ้าจะต้องเปิดเผยข้อมูล อาจจะทำได้ต่อเมื่อได้รับคำสั่งศาลเท่านั้น

นโยบายด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของไทยที่เพิ่งมีขึ้น พ่วงด้วยประเด็นการรั่วไหลของข้อมูลครั้งใหญ่เมื่อปี 2023 ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวของประชาชน

เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว นพ.สุภัทร เป็นผู้แจ้งเบาะแสของข้อมูลคนไทย 55 ล้านคนที่รั่วไหล ในตอนนั้นสังคมพุ่งเป้าไปที่ข้อมูลที่รั่วไหลผ่านทางผู้พัฒนาแอปพลิเคชันหมอพร้อม

กฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูลไทย

ประเทศไทยผ่านกฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูลฉบับแรกและฉบับเดียว เมื่อปี 2022 แต่ผู้วิจารณ์มองว่ายังเป็นกฎหมายที่อ่อนแอในการปกป้องข้อมูลได้เพียงพอ และยังมีช่องโหว่ที่เปิดทางให้นำข้อมูลไปใช้หรือเก็บข้อมูลได้โดยไม่ต้องขออนุญาต “ด้วยเหตุผลในการช่วยชีวิต การวิจัยเชิงสถิติ ผลประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของบุคคล” หากกระทำโดย “ผ่านรูปแบบสัญญา ภายใต้อำนาจของกฎหมาย”

โฆษกโครงการอินเตอร์เน็ตของเมียนมา ผู้ไม่ประสงค์ออกนามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย บอกกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า “แม้ว่าเป็นกฎหมายพื้นฐานที่ดี แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ”

โครงการเก็บข้อมูลไบโอเมตริกนี้มีความคล้ายคลึงกับโครงการในบังคลาเทศจนน่าขนลุก ในประเด็นโต้แย้งของสหประชาชาติเมื่อปี 2021 ที่ชี้ว่า ข้อมูลตัวตนของผู้ลี้ภัยโรฮีนจาเกือบ 1 ล้านคนถูกส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่บังคลาเทศและเมียนมา ทำให้ชาวโรฮีนจาบางคนต้องหลบซ่อนตัว

ผู้อำนวยการ NECTEC มองว่า ในอดีต การขึ้นทะเบียนโดยตรงกับกระทรวงสาธารณสุขได้สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้อพยพบางส่วน แม้ว่าเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลพื้นฐานก็ตามที แต่การทำผ่านองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐได้ลดความกังวลของคนเหล่านี้ได้บ้าง

ทั้งนี้ ทางกรมควบคุมโรคของไทยไม่ได้ตอบกลับการขอความเห็นของเรดิโอฟรีเอเชียขณะจัดทำรายงานฉบับนี้

  • ที่มา: เรดิโอฟรีเอเชีย

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG