ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เมียนมา สั่งจำคุกผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น 10 ปี


FILE - Images of Toru Kubota, a Japanese journalist detained in Myanmar while covering a protest, are displayed at the Japan Press Club in Tokyo on Aug. 3, 2022 as his friends gathered at the club calling for his immediate release.
FILE - Images of Toru Kubota, a Japanese journalist detained in Myanmar while covering a protest, are displayed at the Japan Press Club in Tokyo on Aug. 3, 2022 as his friends gathered at the club calling for his immediate release.

ศาลรัฐบาลทหารเมียนมาพิพากษาลงโทษผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นรายหนึ่งด้วยการจำคุกเป็นเวลา 10 ปี หลังบันทึกภาพการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

เท็ตซึโอะ คิตาดะ อุปทูตญี่ปุ่นประจำเมียนมา เปิดเผยว่า ผู้พิพากษาสั่งลงโทษ โทรุ คูโบตะ ผู้สื่อข่าวสัญชาติญี่ปุ่น ด้วยการจำคุกเป็นเวลา 7 ปี ในข้อหาละเมิดกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอีก 3 ปี ในข้อหาปลุกระดม โดยจะเป็นการรับโทษทั้งสองข้อไปพร้อม ๆ กัน ขณะที่ ยังมีข้อหาละเมิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองที่ศาลจะพิจารณาในลำดับต่อไปด้วย

รายงานข่าวระบุว่า ข้อหาเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นรวมความถึง การทำผิดที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลยั่วยุผ่านช่องทางออนไลน์ และมีโทษจำคุกสูงสุด 7-15 ปี ขณะที่ ข้อหาปลุกระดมนั้น เป็นกฎหมายการเมืองที่ใช้กับกิจกรรมทุกประเภทที่ถูกมองว่า จะทำให้เกิดความไม่สงบ และถูกนำมาใช้บ่อย ๆ กับผู้สื่อข่าวและผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล โดยมักมีการลงโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี

คูโบตะ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมโดยตำรวจนอกเครื่องแบบในนครย่างกุ้ง หลังถ่ายภาพและวิดีโอการประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพในปี 2021 ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ ออง ซาน ซู จี

ทั้งนี้ คูโบตะ เป็นผู้สื่อข่าวต่างชาติคนที่ 5 ที่ถูกคุมขังในเมียนมาหลังเกิดรัฐประหาร และการจับกุม เนธาน หม่อง และแดนนี เฟนสเตอร์ ชาวอเมริกันที่ทำงานกับสื่อท้องถิ่น รวมทั้ง โรเบิร์ต โบเชียกา จากโปแลนด์ และยูกิ คาตาซูมิ จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฟรีแลนซ์ โดยทั้งหมดถูกส่งตัวกลับประเทศก่อนจะรับโทษครบตามกำหนด

มีการประเมินว่า มีผู้สื่อข่าวราว 150 คนที่ถูกจับกุมในเมียนมา โดยกว่าครึ่งได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว แต่รัฐบาลทหารยังคงคุมวงการสื่ออย่างเข้มงวด และสื่ออิสระถูกบีบให้ต้องทำงานเงียบ ๆ แบบใต้ดินหรือไม่ก็ต้องย้ายที่ทำการไปต่างประเทศแทน

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG