เเมรี่ มวานจา ภรรยาของโจชัว อกูมู เสียชีวิตระหว่างการคลอดลูกเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ที่โรงพยาบาลเเม่เเละเด็กพูมวานี (Pumwani MaternityHospital) แต่ลูกสาวของทั้งสองรอดชีวิต
ตอนที่อกูมูไปรับตัวลูกสาวแรกเกิดที่ศูนย์เด็กอ่อนของโรงพยาบาลเพื่อกลับบ้าน เขาเต็มไปด้วยความเศร้าโศก และตกใจกับการจากไปของภรรยา และเขายังไม่มั่นใจนักว่าจะป้อนนมลูกอย่างไร
เมื่อกลับไปถึงบ้าน เขาเริ่มป้อนนมลูกด้วยนมสำเร็จรูปที่เรียกว่า Tuzo ซึ่งในตอนนั้นนม Tuzo ยังไม่ได้ผสมสำเร็จเเล้วอย่างทุกวันนี้ แต่เขาไม่มีทางเลือก เขาบอกว่าหากภรรยาของเขาไม่เสียชีวิต เธอคงจะเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมตนเองซึ่งดีต่อสุขภาพทารกมากกว่านมสำเร็จรูป
มาถึงตอนนี้ สำหรับพ่อหม้ายชาวเคนยาอีกหลายๆ คน อีกไม่นานพวกเขาจะมีทางเลือกอีกทางหนึ่ง นั่นก็คือธนาคารรับบริจาคน้ำนมมารดา
โรงพยาบาลแม่เเละเด็กพูมวานีที่ไนโรบี กำลังก่อตั้งธนาคารน้ำนมมารดาบริจาคแห่งแรกสำหรับเคนยา ถือเป็นชาติที่สองในทวีปแอฟริกาที่เปิดธนาคารน้ำนมมารดาบริจาคตามหลังแอฟริกาใต้
โครงการนี้ริเริ่มโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของเคนยากับองค์กร PATH หน่วยงานด้านสาธารณสุขไม่หวังผลกำไรที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ
ธนาคารน้ำนมมารดาจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายนนี้ เพื่อรับบริจาคน้ำนมมารดา เเละมอบน้ำนมมารดาตามใบสั่งแพทย์ฟรีให้แก่ทารกที่ไม่ได้รับนมแม่
แพทย์หญิงอลิซเบ็ธ คีมานี มูเรจ ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพของเเม่เเละเด็กที่ศูนย์วิจัยด้านประชากรเละสุขภาพแห่งแอฟริกัน (African Population and Health Research Center) เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการธนาคารน้ำนมมารดาบริจาคนี้
แพทย์หญิงมูเรจ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้เเนะนำว่าหากทารกไม่ได้รับน้ำนมเเม่ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ทางเลือกต่อไปที่ดีที่สุดคือน้ำนมบริจาค ดังนั้นจึงเป็นทางออกที่ดีในการจัดหาน้ำนมมารดาบริจาคให้แก่ทารกที่ขาดแคลนน้ำนมแม่
ธนาคารน้ำนมแม่บริจาคนี้มุ่งช่วยเหลือทารกที่กำพร้าแม่เเละขาดอาหาร ให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพื่อให้เจริญเติบโตและมีสุขภาพเเข็งเเรง
ด็อกเตอร์มูเรจ กล่าวว่า น้ำนมมารดามีความสำคัญอย่างมากต่อการอยู่รอดของทารกในช่วงไม่กี่เดือนแรกหลังลืมตาดูโลก
เธอกล่าวว่า ถึงเเม้ว่าอัตราการเสียชีวิตของทารกจะดีขึ้น การเสียชีวิตของเด็กอ่อนก่อนอายุครบ 28 วันยังลดลงในอัตราที่ช้ามากอยู่ ดังนั้นทารกกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายที่ทางธนาคารน้ำนมแม่บริจาค
และตามเป้าหมายของทางโครงการ คาดว่าน่าจะช่วยลดการเสียชีวิตของทารกก่อนอายุครบ 28 วัน ลงมาให้อยู่ที่ 12 รายต่อ 1,000 คน จากอัตราในขณะนี้ที่ 22 คนต่อพันคน
อย่างไรก็ตาม คนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับน้ำนมมารดาบริจาค โดยคนยังกังวลกันถึงเรื่องความสะอาดและโรคที่อาจติดต่อสู่ทารกจากผู้บริจาคน้ำนม แต่ด็อกเตอร์มูเรจย้ำว่า ผู้บริจาคน้ำนมแม่ทุกคนจะได้รับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล เเละน้ำนมจะผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนหรือพาสเจอไรซ์ เพื่อรับประกันว่าทารกได้รับน้ำนมแม่ที่มีคุณภาพและปลอดภัย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)