ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้นำอินโดฯ ประกาศสงครามปราบภาวะเด็กเเคระเเกร็น


Dangati carries her 18-month-old son Ilan Susyandi, who is suffereing from malnutrition, to a hospital for treatment, Friday, June 17, 2005, in Jakarta, Indonesia.
Dangati carries her 18-month-old son Ilan Susyandi, who is suffereing from malnutrition, to a hospital for treatment, Friday, June 17, 2005, in Jakarta, Indonesia.

'ภาวะเเคระเเกร็น' เป็นภาวะผิดปกติที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ให้ความหมายว่า เป็นภาวะบกพร่องด้านการเจริญเติบโตเเละด้านพัฒนาการที่เกิดกับเด็กที่ไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเพียงพอ การเจ็บป่วยซ้ำเเล้วซ้ำอีก เเละการขาดการกระตุ้นด้านพัฒนาการทางจิตใจเเละสังคม

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอินโดนีเซียได้พยายามแก้ปัญหานี้มานานหลายปีเเล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี Joko "Jokowi" Widodo ได้ยกระดับความสำคัญของปัญหานี้ให้สูงขึ้นเป็นปัญหาเร่งด่วนระดับชาติ โดยผู้นำอินโดนีเซียได้ย้ำเรื่องนี้ในคำกล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนในวันชาติอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว

คลอเดีย โรกซ์ (Claudia Rokx) หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพที่ธนาคารโลก กล่าวว่า ไม่เคยมีประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนใดก่อนหน้านี้ที่กล่าวถึงปัญหานี้ในสุนทรพจน์มาก่อน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพเน้นว่า ในช่วงหนึ่งพันวันแรกของชีวิตเด็กเป็นช่วงที่สำคัญมากในการป้องกันภาวะเเคระแกร็น เด็กต้องได้รับน้ำนมมารดาเเละสารอาหารอย่างเพียงพอ ได้รับสิ่งกระตุ้นทางพัฒนาการเเละทำกิจกรรมต่างๆ มีน้ำดื่มสะอาดเเละระบบสุขาภิบาลที่ดี และต้องได้รับการบำบัดอย่างทันทีหากป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรง อาทิ ท้องร่วงและมาลาเรีย

หากเด็กอินโดนีเซียมากกว่า 1 ใน 3 คนมีภาวะแคระแกร็น ก็คำนวณได้ว่ามีเด็กราว 9 ล้านคนในชาติที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ กำลังประสบกับข้อจำกัดทางพัฒนาการ

นูซาเต็งการาติมอร์ (Nusa Tenggara Timur) เป็นจังหวัดที่ยากจนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย มีอัตราเด็กเเคระเเกร็นสูงที่สุดในประเทศที่ร้อยละ 52

ฟิฟี่ ซูมานติ (Fifi Sumanti) เป็นเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์และทำคลอดบนเกาะโคโมโด (Komodo Island) แหล่งที่อยู่ของมังกรโคโมโดที่เลื่องชื่อ เกาะนี้มีประชากรเพียง 2,000 คนเท่านั้น และเเห้งเเล้งจนต้องนำอาหารเกือบทั้งหมดมาจากเกาะอื่น

ซูมานติ กล่าวกับวีโอเอว่า มารดาบนเกาะโคโมโดมักเลี้ยงลูกด้วยอาหารสำเร็จรูป เด็กไม่ได้รับประทานผักและผลไม้อย่างเพียงพอ เธอชี้ว่าความตื่นตัวเกี่ยวกับมาตรฐานของความสะอาดก็น้อย เเละประชาชนขาดเเคลนน้ำดื่มสะอาด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ

ขณะที่พื้นที่ที่ยากจนที่สุดของอินโดนีเซียมีอัตราเด็กแคระแกร็นสูงที่สุด เด็กในกลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศเกิดภาวะเเคระแกร็นถึงร้อยละ 29

ด็อกเตอร์ ไบรอัน สรีพราฮาสตูติ (Dr. Brian Sriprahastuti) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านภาวะเเคระเเกร็น แห่งทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวว่า ปัญหาเด็กเเคระเเกร็นในอินโดนีเซียมีสาเหตุหลายอย่าง ไม่ใช่เเค่ความยากจนเเละการขาดแคลนบริการขั้นพื้นฐานเท่านั้น

สมมุติฐานอีกอย่างหนึ่ง คือพฤติกรรมเป็นสาเหตุหลักของภาวะเด็กเเคระเเกร็น

ซูมานติ เจ้าหน้าที่ทำคลอดเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เธอกล่าวว่าจำเป็นต้องให้ความรู้แก่มารดาเกื่ยวกับภาวะเเคระเเกร็นเเละต้องมีการดูแลร่างกายมากขึ้นตั้งเเต่ระหว่างการตั้งครรภ์จนลูกคลอด และการดูแลเลี้่ยงดูลูกในช่วง 3 ขวบเเรก

ไซมอน ฟลินท์ (Simon Flint) ผู้บริจาคเงินสนับสนุนแก่หน่วยงานการกุศลในสิงคโปร์ Asian Philanthropy Circle กล่าวว่า หากเด็กเเคระเเกร็นในช่วงหนึ่งพันวันแรกของชีวิต ก็มีความเป็นไปได้ที่สมองของเด็กเกิดความเสียหายซึ่งรักษาไม่ได้

หน่วยงานการกุศลนี้วางแผนที่จะเริ่มต้นระดมเงินบริจาค 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้ากองทุนหนึ่งพันวัน (1000 Days Fund) ภายในเดือนมีนาคมปีหน้า เพื่อสนับสนุนโครงการต่อต้านภาวะเเคระเเกร็นในอินโดนีเซีย

ในจดหมายถึงธนาคารโลก ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเรียกอัตราภาวะเเคระเเกร็นนี้ว่า "ยอมรับไม่ได้" เเละสัญญาว่าจะป้องกันเด็กเล็กสองล้านคนจากปัญหานี้ภายในปี ค.ศ. 2021

ผู้นำอินโดนีเซียเขียนว่า การกำจัดภาวะเเคระแกร็นเป็นงานที่มีความสำคัญอันดับต้นของรัฐบาล เเละรัฐบาลมุ่งมั่นเต็มตัวที่จะทำทุกวิถีทางให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายนี้

ทางด้าน จิม ทง คิม (Jim Tong Kim) ประธานาธิบดีของธนาคารโลก กล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังลงทุนในสิ่งที่เรียกว่า การแทรกแซงที่ตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยเริ่มต้นในพื้นที่ 100 อำเภอ และจะขยายออกไปจนครบ 541 อำเภอทั่วประเทศ ภายในปี 2021

อินโดนีเซียแม้จะเป็นชาติรายได้ปานกลาง เเต่มีช่องว่างทางรายได้ที่กว้างมาก ตัวเลขของทางการในปี 2016 ชี้ว่า ชาวอินโดนีเซียราว 30 ล้านคนยังมีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ แสดงให้เห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมที่รุนแรงระหว่างคนรวยกับคนจน

ทางด้าน สรีพราฮาสตูติ ที่ปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาภาวะเเคระเเกร็นประจำทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลกำลังใช้แนวทางการเเก้ปัญหาที่ตั้งอยู่บนสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลต้องให้การสนับสนุนแก่ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนเเละเด็กเล็กอายุต่ำกว่าสองขวบทั่วประเทศ

คลอเดีย โรกซ์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพที่ธนาคารโลก กล่าวว่ารัฐบาลอินโดนีเซียรู้ว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ และพร้อมที่จะแก้ไขเรื่องนี้ มีเงินสนับสนุนจำนวนมากเข้าสู่โครงการต่อต้านภาวะเด็กแคระแกร็นและทางการมีความมุ่งมั่นสูง

ผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลกกล่าวว่า ขณะนี้อินโดนีเซียเตรียมพร้อมทุกอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จ หน่วยงานต่างๆ เพียงแต่ต้องประสานงานกันให้ดีเท่านั้น ต้องมุ่งมั่นไม่ละความพยายามเพื่อให้ประชากรเด็กเล็กของประเทศมีจุดเริ่มต้นชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG