ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กฏหมายอินโดฯ อนุญาตคนต่างศาสนาเเต่งงานกันได้ เเต่เจอแรงต้านจากกลุ่มมุสลิม


An Indonesian couple takes part in a mass interfaith wedding ceremony sponsored by an organizer and the Jakarta government in Jakarta on July 19, 2011.
An Indonesian couple takes part in a mass interfaith wedding ceremony sponsored by an organizer and the Jakarta government in Jakarta on July 19, 2011.

กฏหมายว่าด้วยการแต่งงานปี ค.ศ. 1974 ของอินโดนีเซีย ระบุว่าการเเต่งงานถือว่าถูกต้องตามกฏหมาย หากมีขึ้นตามของกฏระเบียบของศาสนาและความเชื่อของทั้งสองฝ่าย

เเต่คำว่า "ทั้งสองฝ่าย" ได้กลายเป็นหอกข้างเเคร่สำหรับคู่รักต่างศาสนาหลายพันคู่ในอินโดนีเซีย ที่ต้องประสบกับข้อกำหนดเหล่านี้จากฝ่ายศาสนา ญาติ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ราชการ ที่ไม่เห็นด้วยกับการเเต่งงานระหว่างคนต่างศาสนา เเละบ่อยครั้งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตัดสินใจเปลี่ยนไปนับถือศาสนาของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้การแต่งงานง่ายขึ้น

เเต่จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีใครยอมเปลี่ยนศาสนา?

คู่รักหลายคู่เเก้ปัญหานี้ด้วยการไปแต่งงานในสิงคโปร์ หรือไม่ก็ในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นชาติที่ความแตกต่างด้านความเชื่อทางศาสนาไม่เป็นประเด็น เเต่สำหรับชาวอินโดนีเซียที่ต้องการเเต่งงานในประเทศบ้านเกิด พวกเขาสามารถขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้

หนึ่งในบรรดาผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฏหมายเเก่คู่สมรสต่างศาสนานี้คือ นายโมฮัมหมัด โมนิบ (Mohammad Monib)ผู้อำนวยการแห่งหน่วยงานส่งเสริมเสรีภาพทางศาสนาและสันติสุขอินโดนีเซีย ในกรุงจาการ์ต้า (Indonesian Conference on Religion and Peace) ได้ให้ความช่วยเหลือแก่คู่รักต่างศาสนามากกว่า 300 คู่ให้ได้เเต่งงานกันตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยให้ความรู้ด้านสิทธิ์ตามกฏหมายของพวกเขา เเละให้คำแนะนำด้านการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฏหมายเเละงานด้านเอกสาร

โมนิบ กล่าวว่า การเเต่งงานระหว่างคนต่างศาสนาเป็นปัญหาที่มีมาช้านานในศาสนาอิสลาม ตั้งเเต่ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 7 เขากล่าวว่าไม่มีกฏระเบียบใดในพระคัมภีร์อัลกุรอ่านที่ห้ามการเเต่งงานระหว่างคนต่างศาสนา

แต่หลายคนไม่เห็นด้วย ชาวอินโดนีเซียหลายคนมองการแต่งงานระหว่างคนต่างศาสนาว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ บรรดากลุ่มเคร่งศาสนาหลายกลุ่มได้ประกาศว่า การสมรสระหว่างชาวมุสลิมกับคนต่างศาสนาเป็นสิ่งต้องห้าม

ด้านคณะกรรมาธิการด้านสิทธิตามรัฐธรรมนูญเเละสิทธิมนุษยชนเเห่งอินโดนีเซีย ถือว่าประชาชนมีสิทธิ์เเต่งงานกับใครก็ได้ เเต่คู่สมรสต่างศาสนามักเจอกับเจ้าหน้าที่ราชการที่พยายามกีดกันไม่ให้พวกเขาจดทะเบียนสมรสกัน

โมนิบ เป็นชาวมุสลิมเเละเเต่งงานกับหญิงมุสลิม เเม้ว่าเขาจะไม่มีประสบการณ์เดียวกันกับคู่สมรสต่างศาสนา เเต่เขาต้องการช่วยเหลือคนที่เจอปัญหานี้ เขากล่าวว่าการแต่งงานเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เเละเขาเชื่อว่าการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเเต่งงานจะช่วยแก้ปัญหาศีลธรรมจรรยาอื่นๆ ไปในตัว โดยเขาเชื่อว่าเพศสัมพันธ์เป็นหนึ่งในความต้องการพื้นฐานของคน เเละเพศสัมพันธ์ก่อนการเเต่งงานเป็นสิ่งต้องห้ามตามความเชื่อของทุกศาสนา ดังนั้นหากสามารถช่วยให้คนเเต่งงานกันก่อน ก็จะไม่มีปัญหาชิงสุกก่อนห่ามตามมา

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โมนิบได้ช่วยคู่รักชาวมุสลิมกับชาวคริสต์นิกายโปรเตสเเตนท์ให้ได้เเต่งงานกันในที่สุด หลังจากเป็นแฟนกันมานาน 20 ปีตั้งเเต่เป็นนักเรียนมัธยมต้น

และคู่สมรสอีกคู่หนึ่งที่เขาช่วยให้เเต่งงานกันคือ เรนัลดี (Renaldi) กับ ซินดี้ โบซิโต (Cindhe Bosito) ทั้งคู่หย่าร้างมาก่อนที่จะเเต่งงานกัน เเต่รู้จักกันมาตั้งเเต่เป็นนักเรียนมัธยมปลาย

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG