ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'อินโดนีเซีย' ตั้งองค์กรให้ความช่วยเหลือต่างประเทศเป็นครั้งแรก


Humanitarian aid for Rohingya refugees from Indonesia arrives in Bangladesh. (Photo: VOA / Presidential Press Bureau of RI)
Humanitarian aid for Rohingya refugees from Indonesia arrives in Bangladesh. (Photo: VOA / Presidential Press Bureau of RI)

รัฐบาลกรุงจาการ์ตาพร้อมจะปรับบทบาทเพื่อเข้าสู่เวทีโลก

ในคำแถลงเรื่องนโยบายต่างประเทศประจำปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นาง Retno Marsudi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ประกาศเรื่องการตั้งองค์กรชื่อ “Indonesia Aid” ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ ที่จะช่วยเสริมนโยบายด้านการทูตของอินโดนีเซีย ด้วยงบประมาณเริ่มต้นที่ 1 ล้านล้านรูเปีย หรือประมาณ 2,240 ล้านบาท

ในขณะนี้ ถึงแม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศผู้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่การตั้งหน่วยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของตนเองขึ้นมา ก็นับเป็นการเปลี่ยนทิศทางด้านนโยบายต่างประเทศอย่างสำคัญ และแสดงถึงเป้าหมายเรื่องการก้าวเข้าไปมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นด้วย

อินโดนีเซียนับเป็นหนึ่งในประเทศแรกที่กล่าวตำหนิเรื่องการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงจะในเมียนมาร์ และเมื่อปีที่แล้ว ได้เสนอจะร่วมมือกับฟิลิปปินส์ในปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายด้วย

คาดกันว่ามาตรการต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งการตั้งหน่วยงานให้ความช่วยเหลือขึ้นใหม่ และแผนที่จะสมัครเป็นสมาชิกประเภทไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติในปีหน้า จะเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการฟื้นฟูบทบาทของอินโดนีเซียในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ด้วย

นับตั้งแต่ช่วงปีแรกของการเข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดี Jokowi ได้พยายามเปลี่ยนจุดเน้นเรื่องนโยบายต่างประเทศ จากการให้ความสนใจกิจการระดับภูมิภาค ไปสู่กิจการระดับโลกมากขึ้น

โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ได้ระบุว่า ประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา เอเชียกลาง และเอเชียใต้ รวมทั้งกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ล้วนเป็นเป้าหมายของการให้ความช่วยเหลือสำหรับนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปีนี้

ถึงแม้ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ผู้นำของอินโดนีเซียจะค่อนข้างสงวนท่าทีเรื่องการก้าวขึ้นมามีบทบาทระดับโลกก็ตาม แต่อินโดนีเซียก็เคยมีประวัติผลงานในแง่การเป็นผู้นำในเวทีโลกมาก่อน เช่น การเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มประเทศผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือ NAM ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว และไม่ยอมเข้าข้างฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือสหภาพโซเวียต ในช่วงสงครามเย็น

และขณะนี้ถึงแม้บทบาทของกลุ่มดังกล่าวจะลดลงก็ตาม แต่กลุ่ม NAM หรือ Non-Aligned Movement นี้ก็ยังมีสมาชิก 120 ประเทศและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงจาการ์ตาด้วย

ขณะนี้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก และยังเป็นจุดหมายของการลงทุนจากกลุ่มประเทศมุสลิมในย่านอ่าวเปอร์เซีย เช่น ซาอุดิอาระเบีย

นอกเหนือจากการปรับจุดยืนและบทบาทเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียยังประกาศจะให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์ด้วย

นักวิเคราะห์ชี้ว่า เรื่องนี้จะเป็นโอกาสของอินโดนีเซียในการขยายนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายการทูตที่อิงแอบเรื่องศาสนาด้วยเช่นกัน

XS
SM
MD
LG