ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อินโดนีเซียตามอย่างฟิลิปปินส์ในการปราบปรามยาเสพติด


An Indonesian policeman checks crystal methamphetamine from China after a raid at Anyer beach in Serang, Banten province, Indonesia, July 13, 2017. Antara Foto/Asep Fathulrahman via REUTERS
An Indonesian policeman checks crystal methamphetamine from China after a raid at Anyer beach in Serang, Banten province, Indonesia, July 13, 2017. Antara Foto/Asep Fathulrahman via REUTERS

ประธานาธิบดี Jokowi สั่งกร้าวให้ตำรวจใช้กำลังปราบผู้ค้ายาเสพติด

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย Joko Widodo หรือที่คนรู้จักกันดีในนาม Jokowi ได้สั่งการให้ตำรวจยิงผู้ต้องหาค้ายาเสพติดชาวต่างชาติที่ขัดขืนการจับกุม โดยอ้างว่าประเทศกำลังตกอยู่ใน “สถานการณ์ฉุกเฉินด้านยาเสพติด”หลังจากนั้นกระทรวงกฏหมายและสิทธิมนุษยชนได้ประกาศแผนการนำตัวนักโทษค้ายาเสพติดไปขังรวมกันในคุกสี่เเห่ง ต่อมา ผู้บัญชาการตำรวจกรุงจาการ์ต้า พลตำรวจเอก Idham Aziz ออกมาบอกว่าจะไล่ออกตำรวจทุกคนที่ไม่ปราบปรามการค้ายาเสพติดอย่างจริงจัง

คำกล่าวของประธานาธิบดี Jokowi เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีขึ้นหลังจากเหตุการณ์ตำรวจยิงผู้ต้องหาค้ายาเสพติดชาวไต้หวันที่ขัดขืนการจับกุมขณะพยายามลักลอบนำยาแอมเฟตามีนน้ำหนักรวม 1 ตันเข้าไปในอินโดนีเซีย

Phelim Kline เจ้าหน้าที่ขององค์การ Human Rights Watch วิจารณ์ประธานาธิบดีอินโดนีเซียในเรื่องนี้โดยกล่าวในแถลงการณ์ขององค์การว่า ประธานาธิบดี Jokowi ควรชี้เเจงอย่างชัดเจนและอย่างเป็นทางการต่อตำรวจว่าเจ้าหน้าที่ต้องเคารพต่อสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของคนทุกคนในการจัดการปัญหายาเสพติดที่ซับซ้อน ไม่ควรมุ่งสังหารผู้ต้องหา

ยาแอมเฟตามีนที่ตำรวจอินโดนีเซียยึดได้เมื่อเดือนที่ผ่านมาถือว่าเป็นยาล็อตใหญ่ที่สุดที่เคยยึดได้ในประเทศ และหัวหน้าสำนักงานปราบปรามยาเสพติด พลเอก Budi Waseso ได้เร่งเร้าให้อินโดนีเซียเอาอย่างฟิลิปปินส์ที่ใช้มาตรการทางอาวุธปราบปรามยาเสพติด

พลเอก Budi กล่าวกับสำนักข่าวเอบีซีนิวส์ออสเตรเลียว่าตลาดยาเสพติดที่เคยอยู่ในฟิลิปปินส์กำลังย้ายเข้ามาในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผลจากมาตราการปราบปรามตามนโยบายของประธานาธิบดีดูเตอเต้และทำให้มีการลักลอบยาเสพติดเข้ามาในอินโดนีเซียมากขึ้น

อินโดนีเซียมีบทลงโทษประหารชีวิตแก่ผู้มีความผิดฐานลักลอบค้ายาเสพติด เป็นบทลงโทษเดียวกับคนที่มีความผิดในข้อหาฆาตรกรรมและก่อการร้าย ประมาณว่าราว 70 เปอร์เซ็นต์ของนักโทษในอินโดนีเซียเป็นผู้มีความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดสถานเบา

ด้าน Edo Nasution ผู้ประสานงานระดับชาติของหน่วยงานไม่หวังผลกำไร Solidarity for Indonesian Drug Victims กล่าวว่ากังวลต่อวาทศิลป์ของผู้นำอินโดนีเซียที่ใช้สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ลักลอบค้ายาเสพติด เขากล่าวว่าอินโดนีเซียต้องมีนโยบายยาเสพติดที่ตั้งขึ้นบนหลักฐาน ไม่ใช่นโยบายที่ตั้งอยู่บนค่านิยมด้านวัฒนธรรมหรือเเนวคิดทางอุดมคติ

Edo เคยเป็นผู้ใช้ยาเสพติดมาก่อน เขาผ่านการจองจำในคุกอินโดนีเซียนาน 13 ปี เขายกตัวอย่างว่ามีโครงการลดอันตรายหลายโครงการในอินโดนีเซียที่มีมานานไม่ว่าจะเป็นการเเจกเข็มฉีดยาใหม่แก่ผู้ใช้ยาเสพติดเเละมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าโครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จ เเทนที่จะมุ่งปราบปรามการใช้ยาเสพติดให้หมดไปเท่านั้น

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ยอมผ่อนปรนบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดฐานใช้ยาเสพติดเเละลักลอบค้ายาเสพติด ทั้งอินโดนีเซีย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ต่างยืนยันเสมอมาว่าบทลงโทษที่รุนแรงเป็นวิธีกำจัดปัญหายาเสพติดที่เป็นปัญหาสังคมปัญหาสำคัญ ส่วนประเทศไทย ก็ดูเหมือนว่าอาจจะทบทวนการลงโทษทางอาญาเเก่ผู้ต้องหาใช้หรือค้ายาแอมเฟตามีนเพราะมีนักโทษเเน่นเรือนจำ แต่อินโดนีเซียยังไม่มีท่าทีเดียวกันนี้

หลังสาบานตนเข้ารับตำเเหน่งเพียงสองเดือนในปี 2015 ประธานาธิบดี Jokowi ใช้มาตรการดุเดือดกับผู้กระทำผิด โดยเขาได้สั่งประหารชีวิตนักโทษข้อหายาเสพติดถึง 14 คน

ด้าน Claudia Stoicescu นักวิจัยมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดกล่าวว่าการประหารชีวิตนักโทษยาเสพติดไม่มีผลให้ปัญหายาเสพติดในอินโดนีเซียลดลงเเต่กลับมีเหตุอาชญากรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนต่อจากนั้น

การเพิ่มงบประมาณเเก่งานด้านการจับกุมผู้กระทำผิด ทำให้เงินสนับสนุนศูนย์ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดลดลงซึ่งหลายคนมองว่างบประมาณนี้น่าจะมีประโยชน์ต่อการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในอินโดนีเซียจำนวนเกือบล้านคนเเละเมื่อไม่ได้รับการบำบัดในศูนย์ฟื้นฟู ผู้เสพติดที่ยากจนจำนวนมากหันไปใช้การบำบัดด้วยยาสมุนไพรและการรักษาตามความเชื่อทางศาสนา ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะได้ผล

Erasmus Napitupulu แห่ง Institute for Criminal Justice ในกรุงจาการ์ต้ากล่าวว่าอินโดนีเซียจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของสหรัฐฯ ที่ใช้มาตรการที่อ่อนข้อลงต่อยาเสพติดประเภทกัญชา

เขากล่าวว่านโยบายด้านยาเสพติดของสหรัฐฯที่ถือว่าผู้ใช้ยาเสพติดเป็นอาชญากร ได้ล้มเหลวถึงเเม้จะไม่ใช้โทษประหารชีวิตก็ตาม ส่งผลให้สหรัฐฯ ค่อยๆ ปรับทิศทางของนโยบายต่อยาเสพติดประเภทกัญชา โดยไม่ถือว่าผิดกฏหมายอีกต่อไป เขาชี้ว่าหากอินโดนีเซียยังคงการลงโทษด้วยการประหารชีวิตเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ตนถือว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมืองเพื่อรักษาหน้าของนักการเมืองเท่านั้นโดยไม่ได้มุ่งปกป้องเหยื่อของยาเสพติดเเต่อย่างใด

(รายงานโดย Krithika Varagur เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG