ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'แอปประมูลหญิงมุสลิม' กับปัญหาการใช้เทคโนโลยีละเมิดสิทธิมนุษยชน


Indian muslims
Indian muslims

เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว นักบินพาณิชย์หญิง ฮาน่า คาน (Hana Khan) ได้เห็นภาพของเธอบนแอปพลิเคชั่นที่ดูเหมือนว่าจะทำขึ้นเพื่อประมูลขายสตรีมุสลิมในอินเดีย แอปฯ ดังกล่าวได้ถูกลบทิ้งไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครโดนจับ และปัญหานี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข จนกระทั่งเมื่อมีแอปฯ ที่คล้ายกันนี้ปรากฏขึ้นอีกในวันขึ้นปีใหม่

แอปฯ ใหม่ที่มีชื่อว่า Bulli Bai ซึ่งเป็นคำแสลงหยาบคายที่สื่อถึงหญิงมุสลิม มีการประมูลขายการให้บริการหญิงรับใช้ โดยใช้ภาพของบรรดานักเคลื่อนไหว นักข่าว นักแสดง นักการเมือง ตลอดจนผู้ได้รับรางวัลโนเบล มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) อีกด้วย

ท่ามกลางความขุ่นเคืองของผู้คน แอปพลิเคชั่นนี้ก็ถูกปิดไป โดยสามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 4 คนในสัปดาห์ที่แล้ว

ทั้งนี้ การประมูลแบบปลอม ๆ ซึ่งถูกแชร์ออกไปอย่างกว้างขวางบนโลกโซเชียลเป็นเพียงตัวอย่างของวิธีการใช้เทคโนโลยีครั้งล่าสุด ซึ่งมักจะทำได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกล่วงละเมิดโดยการใช้อินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศอีกด้วย

สำหรับสตรีมุสลิมในอินเดียที่มักถูกล่วงละเมิดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ถือเป็นความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน แม้ว่าคนเหล่านั้นจะใช้โซเชียลมีเดียในการเรียกร้องในเรื่องของความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัติต่อชุมชนชนกลุ่มน้อยของตนก็ตาม

ฮาน่า คาน บอกกับมูลนิธิ Thomson Reuters Foundation ว่าเมื่อเธอได้เห็นภาพของตัวเองในแอปฯ ก็รู้สึกไม่พอใจและโกรธเคืองที่โดนกระทำเช่นนั้น และเธอก็รู้สึกโกรธมากยิ่งขึ้นเมื่อรู้ว่าคนที่กระทำความผิดจะสามารถหลุดรอดไปได้ ก่อนหน้านี้คานได้แจ้งความกับตำรวจเพื่อร้องเรียนแอปฯ แรกที่มีชื่อว่า Sulli Deals ซึ่งเป็นคำที่เหยียดหยามหญิงมุสลิมอีกคำหนึ่ง

เจ้าหน้าที่ตำรวจมุมไบกล่าวว่าพวกเขากำลังสืบสวนว่าแอปฯ Bulli Bai นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสมรู้ร่วมคิดที่ใหญ่กว่านี้หรือไม่

โฆษกของเว็บไซต์ GitHub ซึ่งเป็นโฮสต์ของทั้งสองแอปฯ นี้กล่าวว่า ทางเว็บไซต์มีนโยบายเกี่ยวกับเนื้อหาและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิด การเลือกปฏิบัติ และการยุยงให้เกิดความรุนแรงมาเป็นเวลานานแล้ว และว่าตนได้ระงับบัญชีผู้ใช้ชั่วคราวหลังจากการตรวจสอบรายงานต่าง ๆ ของกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการละเมิดนโยบายของทางเว็บไซต์

อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับสตรีทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการส่องดูโพรไฟล์ การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว การใช้กล้องวงจรปิด การติดตามตำแหน่งที่อยู่ หรือการใช้เทคโนโลยี deepfake ในการตัดต่อภาพไปใส่ลงในวิดีโอลามกอนาจาร เป็นต้น

อดัม ดอดจ์ (Adam Dodge ) ผู้บริหารระดับสูงของ EndTAB ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐฯ กล่าวถึงการล่วงละเมิดสตรีทางดิจิทัลว่า ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้คนสามารถโจมตีใครก็ได้ในโลกนี้ และยังสามารถอัพโหลดบางสิ่งบางอย่างและแสดงให้คนทั่วโลกเห็นได้ภายในไม่กี่วินาที และรูปภาพหรือวิดีโอเหล่านั้นก็จะคงอยู่บนโลกออนไลน์ตลอดไป

ทางด้าน โนเอล มาร์ติน (Noelle Martin) นักเคลื่อนไหวชาวออสเตรเลียกล่าวว่า ผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจจากการล่วงละเมิดดังกล่าวล้วนเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดพอ ๆ กับการถูกกระทำทารุณกรรมทางร่างกาย โดยผลกระทบต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นจากการพูดปากต่อปาก การมีข้อมูลในสาธารณะ และเนื้อหาที่คงอยู่บนโลกออนไลน์อย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม การติดตามตัวผู้กระทำผิดนั้นเป็นเรื่องยาก และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีก็ดูเหมือนจะปกป้องบรรดาผู้ใช้ที่ไม่ระบุตัวตนซึ่งสามารถสร้างอีเมล หรือโปรไฟล์โซเชียลมีเดียปลอม ๆ ได้อย่างง่ายดาย

อดัม ดอดจ์ จาก EndTAB กล่าวว่าเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น ก็ควรจะมีการคิดในทันทีว่าเทคโนโลยีนั้น ๆ จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ๆ และจะถูกนำไปใช้เป็นอาวุธในการทำร้ายเด็กผู้หญิงและสตรีในโลกออนไลน์ได้เมื่อไหร่ และอย่างไร

XS
SM
MD
LG