ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปะทะรอบใหม่! ทหารอินเดีย-จีน เผชิญหน้าที่พรมแดนอรุณาจัลประเทศ


FILE - A signboard is seen from the Indian side of the Indo-China border at Bumla, in the northeastern Indian state of Arunachal Pradesh, Nov. 11, 2009.
FILE - A signboard is seen from the Indian side of the Indo-China border at Bumla, in the northeastern Indian state of Arunachal Pradesh, Nov. 11, 2009.

ทางการอินเดียเปิดเผยว่า ทหารของตนได้พยายามสกัดกั้นทหารจีนกลุ่มหนึ่งไม่ให้รุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของอินเดียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนนำไปสู่การปะทะกันรอบใหม่บริเวณพรมแดนในเขตรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดีย

การปะทะกันครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นการเผชิญหน้ากันอีกครั้งของสองประเทศมหาอำนาจในเอเชีย นับตั้งแต่เกิดการต่อสู้ระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายในอีกด้านหนึ่งของพรมแดนเทือกเขาหิมาลัยเมื่อปีค.ศ. 2020 ซึ่งทำให้มีทหารอินเดียเสียชีวิต 20 คน และทหารจีนเสียชีวิต 4 คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย ราชนาธ ซิงห์ กล่าวต่อรัฐสภาอินเดียในวันอังคารว่า "เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ทหารจีนได้พยายามเปลี่ยนสถานะด้วยการรุกล้ำเข้ามาในเส้นแบ่งพรมแดนในเขตตาวัง พื้นที่แยงซี" และว่า "ทหารอินเดียได้เข้าสกัดกั้นอย่างกล้าหาญต่อการรุกล้ำของกองทัพจีนเข้ามาในพรมแดนอินเดีย และขับไล่ทหารเหล่านั้นจนถอนกำลังกลับไป"

รัฐมนตรีกลาโหมอินเดียยืนยันว่า ไม่มีทหารอินเดียเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากการเผชิญหน้าครั้งล่าสุดนี้ และผู้บัญชาการทหารของอินเดียได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการทหารของจีนเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม เพื่อหารือเรื่องนี้แล้ว

ขณะที่แถลงการณ์ของกองทัพอินเดียระบุว่า ทั้งสองฝ่ายต่างถอนกำลังออกจากบริเวณนั้นทันทีหลังการปะทะกัน

ทางด้านรัฐบาลจีนมิได้ออกมาแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แต่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง เหวินปิน กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันว่า สถานการณ์บริเวณพรมแดนติดกับอินเดียนั้นเงียบสงบ และขอให้อินเดีย "ช่วยกันปกป้องสันติภาพและความสงบสุขของพรมแดนสองประเทศ"

แม้ทางการอินเดียมิได้เปิดเผยรายละเอียดการปะทะกันครั้งล่าสุดนี้ แต่หนังสือพิมพ์ Indian Express รายงานอ้างคำพูดของแหล่งข่าวว่า มีการต่อสู้แบบใช้ท่อนไม้และมือเปล่าเป็นเวลานับชั่วโมง โดยมีทหารของทั้งสองประเทศเข้าร่วมหลายร้อยคน

การปะทะกันครั้งนี้เกิดขึ้นที่เขตตาวังในรัฐอรุณาจัลประเทศที่อินเดียครอบครองอยู่ แต่จีนก็กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เช่นกันโดยเรียกว่า "ทิเบตใต้" ซึ่งเมื่อปี 1962 ทั้งสองประเทศเคยรบกันมาแล้วในบริเวณนี้และจีนได้รุกคืบเข้าไปในรัฐดังกล่าว แต่สุดท้ายจีนตัดสินใจคืนพื้นที่ให้อยู่ในการควบคุมของอินเดียและจัดทำ "เส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง" (Line of Actual Control--LAC) ขึ้นมา

India - China, Line of Actual Control
India - China, Line of Actual Control

ความขัดแย้งทางการทหารครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อสองวันที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียได้กล่าวกับรัฐสภาอินเดียว่า อินเดียได้แจ้งให้จีนทราบอย่างชัดเจนแล้วว่าจะไม่อดทนต่อความพยายามใดก็ตามที่จะเปลี่ยนสถานะของ "เส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง" ดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากอินเดีย รวมทั้งการเพิ่มกำลังทหารในบริเวณนั้นด้วย

นักวิเคราะห์เชื่อว่า การเผชิญหน้าครั้งล่าสุดนี้ชี้ให้เห็นว่า เป็นไปได้ยากที่จะอินเดียและจีนจะพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นมิตรกันได้ในอนาคตอันใกล้ และจีนจะไม่ยอมถอยจากการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนตาวังในอรุณาจัลประเทศนี้เช่นกัน

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG