ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อนามัยโลกเคาะ! อนุมัติวัคซีนโควิดจากอินเดียสูตรแรกเป็นการฉุกเฉิน


A health staff shows a vial of 'India's first indigenous Covid-19 vaccine, "Covaxin" at the Kolkata Medical College and Hospital in Kolkata on February 3, 2021. (Photo by DIBYANGSHU SARKAR / AFP)
A health staff shows a vial of 'India's first indigenous Covid-19 vaccine, "Covaxin" at the Kolkata Medical College and Hospital in Kolkata on February 3, 2021. (Photo by DIBYANGSHU SARKAR / AFP)

เมื่อวันพุธ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO อนุมัติวัคซีนต้านโรคโควิด-19 จากภารตะไบโอเทค (Bharat Biotech) บริษัทยาสัญชาติอินเดีย เพื่อใช้เป็นการฉุกเฉิน เป็นการเปิดทางให้ประเทศยากจนหลายประเทศเข้าถึงวัคซีนโควิดได้มากขึ้น ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

การอนุมัติฉุกเฉินครั้งนี้จะทำให้ภารตะไบโอเทคสามารถส่งออกวัคซีนชื่อ “โคแวคซีน” ไปยังประเทศที่อ้างอิงแนวทางของ WHO ในการออกกฎควบคุมการระบาดได้ และการอนุมัติครั้งนี้ยังทำให้ชาวอินเดียหลายล้านคนที่ได้รับวัคซีนสูตรนี้แล้ว สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้

WHO ทวีตข้อความว่า กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคขององค์กรลงความเห็นว่า โคแวคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงเป็นอย่างมาก และวัคซีนสูตรนี้ยังเป็นไปตามมาตรฐานของ WHO ในการปกป้องผู้รับวัคซีนจากโรคโควิด-19

ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวมีกำหนดลงความเห็นตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ทางกลุ่มได้ขอคำชี้แจงเพิ่มเติมจากภารตะไบโอเทคก่อนที่จะประเมินประโยชน์และความเสี่ยงของวัคซีนเป็นขั้นสุดท้าย เพื่อให้วัคซีนสามารถใช้ได้ทั่วโลก

โคแวคซีนยังได้รับการทบทวนโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ของ WHO โดยกลุ่มดังกล่าวแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนสูตรนี้สองโดสห่างกันสี่สัปดาห์ในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

วัคซีนของภารตะไบโอเทคเป็นวัคซีนสูตรที่เจ็ดที่ WHO อนุมัติ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการอนุมัติวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค วัคซีน mRNA ของโมเดอร์นา วัคซีนอะดีโนไวรัสเวคเตอร์ของแอสตราเซเนกาและจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และวัคซีนเชื้อตายของซิโนแวคไบโอเทค และซิโนฟาร์ม บริษัทยาสัญชาติจีน

การอนุมัติของ WHO ในครั้งนี้ อาจทำให้อินเดียส่งออกวัคซีนให้โครงการโคแวกซ์ได้มากขึ้น เพื่อให้ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น

เมื่อเดือนที่แล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อินเดียชะลอข้อตกลงการส่งมอบวัคซีนขณะที่ WHO ยังคงพิจารณาอนุมัติโคแวคซีนอยู่ โดยทางภารตะไบโอเทคเริ่มแบ่งปันข้อมูลให้ WHO ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

หุ้นของบริษัทโอคูเจน (Ocugen) ซึ่งเป็นบริษัทหุ้นส่วนของภารตะไบโอเทคในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ในช่วงการซื้อขายก่อนเปิดตลาด หลัง WHO ตัดสินใจอนุมัคิโคแวคซีน

  • ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์
XS
SM
MD
LG