ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์พฤติกรรมการช้อปปิ้ง: ซื้อของด้วยความจำเป็นหรือเพียงอารมณ์ชั่ววูบ?


People carry shopping bags while others queue to enter a store on Oxford Street in London, Monday, April 12, 2021.
People carry shopping bags while others queue to enter a store on Oxford Street in London, Monday, April 12, 2021.
Shopping With Emotions
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:07 0:00
Direct link


หลายคนอาจเคยผ่านช่วงเวลาการตัดสินใจบางสิ่งบางอย่างในช่วงที่มีอารมณ์อันอ่อนไหวแปรปรวน อย่างเช่น การตัดผมใหม่เมื่ออกหัก หรือแม้กระทั่งมือลั่นกดซื้อสินค้าที่ไม่เคยคิดว่าใช้ ก่อนจะมานั่งเสียใจในภายหลัง

ในรายงานล่าสุดของสำนักข่าวเอพี ช่วยตอกย้ำอีกครั้งว่า อารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญเมื่อเราเลือกที่จะตัดสินใจทำอะไร ซึ่งรวมถึงในเวลาที่เราจับจ่ายใช้สอยด้วย

นักจิตวิทยาด้านการบำบัดเรื่องการใช้เงินและอาจารย์ด้านการวางแผนการเงินของ University of Georgia in Athens คริสตี อาร์ชูเลตา บอกว่า การตัดสินใจที่ดีและเด็ดขาดนั้นทำยากขึ้นทุกวันสำหรับหลายๆคน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้คนรู้สึกเครียดเพราะการระบาดของโควิด-19

แค่นั้นยังไม่พอ เพราะช่วงเวลาเทศกาลแห่งความสุขต่างๆ ที่ใกล้ที่จะมาถึง ยิ่งเพิ่มความกดดันทางการเงินและส่งผลทำให้อารมณ์ต่างๆ ที่เราเผชิญนั้นมีความรุนแรงมากขึ้นอีก

คุณคริสตียกตัวอย่างว่า บางทีเราใช้เงินมากเกินไปในการซื้อของขวัญให้ครอบครัวในช่วงเทศกาลต่างๆ เพราะไม่ได้เจอหน้ากันมานาน หรือบางคนอาจรู้สึกเหงาเพราะไม่มีโอกาสที่จะได้เจอครอบครัว จึงเลือกที่จะซื้อหลายๆ อย่างจนเกินความจำเป็นเพื่อมาเติมเต็มความรู้สึกแทน

ทำอย่างไรเมื่อเราใช้อารมณ์ในเวลาช้อปปิ้ง?

นาตาชา น็อกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมการใช้เงินและการวางแผนการเงิน ได้แนะนำวิธีการจัดการกับปัญหาข้างต้นได้ดังนี้

วิธีแรก คือ สำรวจร่างกายก่อนจับจ่าย

ลองตรวจสอบร่างกายของเรา (body scan) เริ่มไล่ขึ้นมาจากบริเวณเท้าจนถึงศีรษะ ลองสังเกตว่าเรารู้สึกอย่างไร มือเหงื่อออกหรือไม่ ไหล่มีอาการเกร็งหรือไม่ มีภาวะง่วงซึมระหว่างจับจ้องหน้าจอโทรศัพท์อยู่หรือไม่

เนื่องจากอาการเหล่านี้สามารถบ่งบอกถึงความรู้สึกข้างในตัวเราได้ เช่นเราอาจจะรู้สึกเศร้า โกรธ หมดแรง หรือเบื่อ เมื่อเราทราบข้อมูลเหล่านี้ ให้ถามตนเองต่อว่า การซื้อของพวกนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือไม่ หรือยังทำให้เราอยากซื้ออย่างอื่นต่ออีกเพื่อให้ความรู้สึกเหล่านี้หายไป

วิธีที่สองคือ กำหนดช่วงเวลา 24-hour cooling period หรือ การรอที่จะตัดสินใจซื้อของชิ้นที่หมายตาในเวลา 24 ชั่วโมง

เมื่อเราเห็นสินค้าที่อยากได้บนชั้นวาง อย่าเพิ่งหยิบซื้อทันที แต่เราควรจะเดินออกจากร้านแล้วกลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น เมื่อเวลานั้นมาถึง เราจะมีความรู้สึกที่ชัดเจนขึ้นว่าเราต้องการของชิ้นๆ นั้นจริงหรือไม่ ส่วนถ้าใครซื้อของออนไลน์ คุณนาตาชา แนะนำให้ปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์และไปนอนคิดสักหนึ่งคืนก่อน

ผู้เชี่ยวชาญคนนี้แนะนำว่า เราควรเอาเวลาที่เราใคร่ครวญว่าจะซื้อของชิ้นนั้นดีหรือไม่นั้น มาคิดต่อว่า เราจะได้ใช้ของชิ้นที่จะซื้อมานี้เมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร

ควบคุมการช้อปด้วยกลยุทธ์การวางแผน

นอกจากนี้ คุณอาร์ชูเลตา ยังบอกให้สังเกตพฤติกรรม “การซื้อของแบบไม่ทันคิด” (impulse buy) ว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เราต้องเผชิญในช่วงเวลานั้นเป็นตัวกระตุ้นหรือไม่ เช่น การเลือกที่จะไปช้อปปิ้งหลังส่งลูกไปที่ต่างๆ เพื่อช่วยให้เรารู้สึกว่าได้พักผ่อนหย่อนใจ หรือการซื้อของให้ลูกเมื่อเรารู้สึกว่าทำผิดต่อลูก

อีกหนึ่งอย่างที่ควรสังเกต คือ กลยุทธ์ของผู้ประกอบการที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เราใช้จ่ายมากกว่าที่ตั้งใจไว้ เช่นโปรโมชั่นซื้อของสองชิ้นในราคาของชิ้นเดียว หรือการซื้อของให้ได้ยอดที่กำหนดเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ส่งของฟรี

การทบทวนดูพฤติกรรมเหล่านี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยเราสามารถวางแผนการจับจ่ายใช้สอยได้ดีขึ้นในอนาคต

โดยเราสามารถตั้งกฎการซื้อของให้กับตนเองได้ ทั้งการไม่ซื้อของหลัง 1 ทุ่ม ไม่ซื้อของขณะมีอาการมึนเมา หรือไม่เปิดอ่านอีเมล์โปรโมชั่นต่างๆ จากนั้นเขียนรายการช้อปปิ้งเฉพาะของที่ “จำเป็นจะต้องซื้อ” เท่านั้น ถ้าของสิ่งใดไม่อยู่ในรายการ เราจะไม่หยิบใส่ตะกร้าเด็ดขาด

สุดท้ายนี้ น็อกซ์บอกว่า ให้คิดถึงกฎการซื้อของที่เราตั้งไว้ และถามตนเองว่า เมื่อเราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการช้อปปิ้งของเราได้ตอนนี้ ชีวิตเราในอีกหนึ่งปีข้างหน้าจะได้รับประโยชน์ดีๆ อะไรบ้าง?

XS
SM
MD
LG