ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อายุแค่ไหนถึงเรียกว่า “แก่เกินบริหารบ้านเมือง”?


การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในปลายปี 2024 ได้รับการจับตามองในฐานะที่ผู้ท้าชิงเก้าอี้ในทำเนียบขาวนั้นจะมีอายุอานามในหลัก 7 หลัก 8 กะรัต ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญมากมายก็มีผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายทศวรรษ พ่วงด้วยปัญหาสุขภาพที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเริ่มแสดงความกังวลบ้างแล้ว

สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาที่ว่า ปัจจัยเรื่องอายุมีผลมากน้อยแค่ไหน และคำถามที่ว่าอายุเท่าไหร่ถึงจะเรียกได้ว่า “แก่เกิน” สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารประเทศ?

ปัจจุบันอายุโดยเฉลี่ยของชาวอเมริกันอยู่ที่ราว 39 ปี แต่ผู้นำทางการเมืองอเมริกันหลายราย รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศ ต่างมีอายุเฉลี่ยที่ราว 60 ปีแล้ว

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ มีอายุ 80 ปี อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงเก้าอี้ทำเนียบขาวสมัยสองในปี 2024 ก็มีอายุ 77 ปี ขณะที่อายุเฉลี่ยของวุฒิสมาชิกอเมริกันอยู่ที่ 64 ปี

ประเด็นด้านสุขภาพของผู้นำวุฒิสมาชิกอเมริกัน กลายเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงในช่วงที่ผ่านมา จากกรณีที่วุฒิสมาชิกมิทช์ แม็คคอนแนลล์ ผู้นำพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาสหรัฐฯ วัย 81 ปี เกิดภาวะที่หยุดนิ่งและพูดไม่ได้ต่อสาธารณชนเป็นเวลา 30 วินาที ถึง 2 ครั้ง และวุฒิสมาชิกไดแอนน์ ไฟน์สไตน์ จากพรรคเดโมแครต สว.ผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด และเป็นสว.ที่อายุมากที่สุดในสภาฯ เพิ่งเสียชีวิตในวัย 90 ปีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากปัญหาสุขภาพรุมเร้า

เชลดอน เจค็อบสัน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลลินอยส์ ผู้ศึกษาเรื่องการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนและความเสี่ยง บอกกับวีโอเอว่า “เมื่อมาถึงเรื่องการเมือง แน่นอนว่าความท้าทายหนึ่ง คือ ผู้คนต้องการอยู่ในอำนาจและรักษาอำนาจไว้ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้” และว่า “มนุษย์เราโดยทั่วไป มีแนวโน้มที่จะชะลอการตัดสินใจให้นานขึ้น เราจะเจอกับปัญหาในการทำความเข้าใจและประเมินความเสี่ยงเมื่อเป็นสถานการณ์ของตัวเอง”

คำถามสำคัญก็คือ แก่แค่ไหนคือแก่เกินจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง? ในการสำรวจเมื่อปี 2022 พบว่าชาวอเมริกัน 58% เชื่อว่าควรมีเกณฑ์อายุสูงสุดสำหรับผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง และ 39% เห็นว่าควรไม่เกิน 70 ปี

เคซี บราวน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการของ Center for Healthy Aging ของมหาวิทยาลัย ให้ทัศนะกับวีโอเอด้วยว่า “เกณฑ์เรื่องความชราไม่สามารถที่จะวัดค่าได้เท่ากันทั้งหมด และผู้คนมีความจุดแข็งจุดอ่อนในช่วงชีวิตที่แตกต่างกันไป .. ดังนั้นจึงไม่คิดว่าจะมีคำตอบง่าย ๆ สำหรับคำถามที่ว่าแก่แค่ไหนคือแก่เกินบริหารบ้านเมือง”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่วิทยาศาสตร์สามารถบอกเราได้ก็คือว่า ระบบการรับรู้ของมนุษย์เริ่มเสื่อมถอยลงไปตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นแล้ว ขณะที่ราว 10% ของผู้คนที่อายุมากกว่า 70 ปี มีภาวะความจำเสื่อมในระดับที่แตกต่างกันไป

บราวน์ อธิบายต่อว่า “โดยทั่วไปความชราจะมีการเปลี่ยนในระบบการรับรู้ในด้านใดด้านหนึ่งอยู่แล้ว แต่อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อาจเป็นเรื่องศักยภาพในการใช้ความจำ อย่างเช่น การจดจำสิ่งต่าง ๆ ในคราวเดียว และการควบคุมข้อมูลในสมองอาจจะยากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณของข้อมูลที่จะจดจำได้ต่อครั้งมีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นกัน”

ณ ตอนนี้ ปธน.ไบเดน ถือเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน เขาเข้ารับตำแหน่งปธน.เมื่อปี 2021 ด้วยอายุ 78 ปี ส่วนอดีตปธน.ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในวัย 70 ปีเมื่อปี 2017 ถือเป็นปธน.สหรัฐฯ ที่รับตำแหน่งเมื่ออายุมากเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน อันดับ 3 คืออดีตปธน.โรนัลด์ เรแกน ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่ออายุได้ 69 ปี

เงื่อนไขด้านอายุสำหรับผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องมีอายุอย่างน้อย 35 ปีถึงจะเข้ารับตำแหน่งได้ และอายุขั้นต่ำในการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ที่ 25 ปี ส่วนวุฒิสมาชิกอยู่ที่ 30 ปี แต่ไม่มีเกณฑ์อายุขั้นสูงแต่อย่างใด

เจค็อบสัน เพิ่มเติมว่า “หากเราดูสถานการณ์ของปธน.ไบเดน หากเขาได้รับเลือกอีกครั้ง เขาจะก้าวเข้าไปอยู่ในโซนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในตำแหน่งประธานาธิบดี” และว่า “ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ลงคะแนนเสียงคือผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้”

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลลินอยส์ กล่าวว่าการพยายามผลักดันกฎหมายจำกัดอายุสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ อาจเผชิญกับแรงต่อต้าน แต่จะดีกว่านี้หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อายุมากจะสมัครใจออกจากสนามการเมืองไป เหมือนกรณีของสว.มิตต์ รอมนีย์ วัย 76 ปี ที่ประกาศลงจากเวทีการเมืองในปี 2025 เพื่อเปิดทางให้ ผู้นำ “รุ่นใหม่” เข้ามาบริหารบ้านเมือง

สว.รอมนีย์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนกันยายนว่า “ถึงเวลาแล้วที่คนแบบผมต้องหลีกทางให้”

มีข้อมูลที่ชี้ว่าชาวอเมริกันมีอายุยืนขึ้น โดยมีประชากรราว 89,739 คนที่มีอายุเกิน 100 ปี ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2021 ซึ่งเป็นสถิติที่สูงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ และผู้คนที่อายุมากมีแนวโน้มจะแข็งแรงกว่าคนรุ่นก่อนหน้า อ้างอิงจากข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ที่พบว่า พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพจะช่วยให้ผู้คนมีอายุยืนอย่างสุขภาพดีในวัย 60-70 ปีหรือมากกว่านั้น

อีกด้านหนึ่ง คือ คนสูงอายุมีแนวโน้มที่จะขาดเป้าหมายชีวิตเมื่อแก่ตัวลง ซึ่งอาจช่วยอธิบายว่าทำไมผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาฯ ถึงยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปเรื่อย ๆ

บราวน์ ทิ้งท้ายว่าผู้สูงวัย “มักจะมีความรู้สึกมีเป้าหมายลดลง…และการมีส่วนร่วมในสังคมลดลงไป” และว่า “บางครั้งผู้สูงอายุที่มีความฉลาดมาก ๆ ผู้ที่มีหน้าที่การงานในระดับสูงมาก ๆ จะยังคงรักษาเป้าหมายชีวิตของพวกเขาต่อไป และไม่ต้องการที่จะปล่อยมันไปด้วย”

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG