ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพบ การอาบน้ำร้อนช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้


FILE - A woman reads in the hot tub in New Orleans, Louisiana, Nov. 28, 2014.
FILE - A woman reads in the hot tub in New Orleans, Louisiana, Nov. 28, 2014.

งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่า การอาบน้ำร้อน ทั้งการแช่ในอ่าง หรือแม้แต่การใช้เวลาในห้องซาวน่า อาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ได้

ในการประชุมประจำปีของสมาคมยุโรปเพื่อการศึกษาโรคเบาหวาน (European Association for the Study of Diabetes) ที่จัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดเผยรายงานการวิจัยที่ระบุว่า การใช้ยาต่างๆ เพื่อรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ดีขึ้นและยาวนานขึ้น การทำกิจวัตรประจำวันบางอย่าง ทั้งที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกินและการออกกำลังกาย ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติอยู่เสมอ

ฮิซายูกิ คัทสึยามา ผู้ร่วมเขียนรายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า ทีมงานวิจัยได้ลองค้นคว้าดูงานชิ้นเก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดด้วยความร้อน เช่น การอาบน้ำ การแช่น้ำ หรือ การเข้าไปอยู่ในห้องซาวน่า ซึ่งชี้ว่า ล้วนสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ ทั้งยังสามารถช่วยลดสัดส่วนไขมันในร่างกาย และน่าจะช่วยรักษาอาการป่วยของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อีกด้วย

ดังนั้น ทีมงานจึงทำการทดสอบทฤษฎีนี้ และคัดสรรผู้ป่วยจำนวน 1,297 คนที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองอิจิคาวะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2018 และเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2019 ก่อนจะทำการบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอาบน้ำและอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ รวมทั้ง ความถี่ ระยะเวลาในการอาบน้ำแต่ละครั้ง และรายละเอียดด้านการรักษาอื่นๆ ด้วย

ข้อมูลที่เก็บมาได้นั้น บ่งชี้ว่า ผู้ที่อาบน้ำร้อนบ่อยๆ มีดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body mass index) ความดันโลหิต และระดับน้ำตาลสะสมในเลือดที่ต่ำกว่า

หลังการประมวลข้อมูลต่างๆ แล้ว ทีมวิจัยได้ข้อสรุปว่า การที่ร่างกายของคนเราสัมผัสกับความร้อน ผ่านการแช่น้ำร้อน เป็นประจำทุกวัน สามารถ “ช่วยแก้ไขระดับน้ำตาลในเลือด ภาวะความดันโลหิตสูง และปัญหาโรคอ้วน ซึ่งหมายความว่า เป็นทางเลือกสำหรับการบำบัดให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้”

คัทสึยามา ให้สัมภาษณ์ว่า เขาคิดว่า ผู้ป่วยสามารถใช้วิธีการบำบัดด้วยความร้อนต่างการออกกำลังกายได้ เพราะทั้งสองวิธีทำให้ความไวต่ออินซูลิน (Insulin Sensitivity) ทำงานได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมระดับการใช้พลังงานในร่างกายด้วย

อย่างไรก็ดี คัทสึยามา ย้ำว่า ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ก่อนจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ หรือผ่านกระบวนการของวารสารวิชาการ ที่เรียกกันว่า Peer Review ซึ่งเป็นการเสนอให้คณะผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องพิจารณาตรวจสอบ อ่าน และตัดสินว่า งานวิจัยนั้นๆ เป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ หรือควรกลับไปปรับปรุงแก้ไขก่อนการรับรองให้ลงพิมพ์ในวารสารใดๆ ได้

XS
SM
MD
LG