ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพบ 'อาการหูตึงเฉียบพลัน' อาจเกี่ยวโยงกับการขาดธาตุเหล็กและภาวะโลหิตจาง


ทางแก้ไขปัญหาการได้ยินอาจทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:14 0:00

นักวิจัยกล่าวว่าปัญหาการได้ยินอาจเกี่ยวโยงกับอาการโลหิตจางหรือ anemia ซึ่งเป็นภาวะที่พบบ่อยจากการขาดธาตุเหล็กในเลือด

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานของผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania State พวกเขาทดลองเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มประชากร 3 แสนคนในสหรัฐฯ อายุระหว่าง 21 ถึง 90 ปี

การศึกษานี้ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ JAMA Otolaryngology-Head & Neck Surgery ชี้ว่าผู้ที่มีอาการโลหิตจางมีความเป็นไปได้สูงกว่าปกติถึงสองเท่าที่จะมีปัญหาการได้ยิน ซึ่งภาวะโลหิตจางเกิดจากการสูญเสียเซลล์เม็ดเลือดแดงที่แข็งแรงและธาตุเหล็กที่มากับเซลล์เหล่านี้

นักวิจัยกล่าวว่าอัตราการเกิดปัญหาการได้ยินในกลุ่มประชากรทั่วไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.6 เทียบกับร้อยละ 3.4 ในกลุ่มที่ขาดธาตุเหล็กของผู้ป่วยโลหิตจาง

ความผิดปกติเรื่องการได้ยินที่เกิดขึ้นบ่อยให้กลุ่มผู้ป่วยโลหิตจาง มีสาเหตุมาจากการสูญเสียการทำงานของระบบประสาทที่เชื่อมต่อกับสมอง ในกรณีที่ว่านี้ผู้ป่วยไม่ได้ยินเสียงตามปกติที่ผ่านเข้ามาที่หูชั้นกลางและแก้วหู

และนักวิจัยเชื่อว่าการแก้ไขอาการโลหิตจางด้วยอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็ก อาจเป็นทางรักษาปัญหาการได้ยินได้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะได้รับการศึกษาต่อไป

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีเหตุผลที่อธิบายได้ว่าเหตุใดอาการหูตึงจึงอาจเกิดจากภาวะโลหิตจาง เพราะภายในหูของมนุษย์มีความอ่อนไหวต่อการรับออกซิเจนอย่างมาก

พวกเขาอธิบายต่อว่า เป็นไปได้ว่าเซลล์ประสาทในหูไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอในผู้ป่วยที่ขาดธาตุเหล็ก เพราะธาตุเหล็กมีส่วนสำคัญต่อการผลิตโปรตีนเม็ดเลือดแดง ฮีโมโกลบิน ซึ่งทำหน้าที่นำพาออกซิเจนไปส่งตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

งานวิจัยชิ้นนี้สนับสนุนคำแนะนำว่า แพทย์ควรพิจารณาสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินอย่างเฉียบพลันว่าอาจมีส่วนมาจากภาวะโลหิตจางที่เกี่ยวโยงกับการขาดธาตุเหล็ก

ตามสถิติเมื่อสองปีก่อนของหน่วงงานของสหรัฐฯ เรื่องสุขภาพการได้ยิน ประชากรอเมริกันวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 15 มีอาการสูญเสียการได้ยิน

นักวิจัยแนะนำด้วยว่าการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างสมดุล และที่มีธาตุเหล็ก เป็นแนวทางหนึ่งที่ส่งเสริมการมีสุขภาพดีอย่างสมบูรณ์

(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)

XS
SM
MD
LG