ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยสหรัฐฯ พบวิธีบำบัด 'โรคตาขี้เกียจ' ด้วย 'วิดีโอเกมส์' ชี้ได้ผลเร็วกว่าวิธีรักษาแบบดั้งเดิม


Technology Better Than Regular Treatment for 'Lazy Eye'
please wait

No media source currently available

0:00 0:02:10 0:00

Technology Better Than Regular Treatment for 'Lazy Eye'

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:55 0:00

ปกติแล้ว "ภาวะตาขี้เกียจ" เป็นปัญหาสายตาที่สามารถรักษาหายได้ แต่หากปล่อยทิ้งเอาไว้โดยไม่รักษา ภาวะตาขี้เกียจจะส่งผลกระทบต่อการอ่าน และการควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กในการเขียน ที่รวมถึงการประสานสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ

ตลอดจนมีผลเสียต่อความสำเร็จทางการเรียน และความรู้สึกต่อตัวเองของเด็ก นอกจากนี้ ภาวะตาขี้เกียจที่ไม่ได้รับการรักษาอาจจะเป็นเหตุให้ตาบอดได้

เด็กที่เป็นโรคตาขี้เกียจอาจจะดูเป็นปกติ แต่ตาข้างหนึ่งจะสามารถส่งสัญญาณไฟฟ้าที่เเข็งเเรงกว่าตาอีกข้างหนึ่งไปยังสมอง เพราะมองเห็นชัดไม่เท่ากัน หากปล่อยเอาไว้โดยไม่รักษา ความสามารถในการส่งสัญญาณการมองเห็นไปยังสมองของตาข้างที่มัวกว่าจะยิ่งเเย่ลงไปอีก หรืออาจจะไม่สามารถพัฒนาได้อย่างที่ควรจะเป็น

โดยทั่วไป เเพทย์จะรักษาภาวะตาขี้เกียจด้วยการปิดตาข้างที่ปกติดี เพื่อบังคับให้ตาข้างที่ผิดปกติทำงานแทน และฝึกส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังสมองได้ดีขึ้น แต่การบำบัดเเบบนี้อาจจะไม่ช่วยให้เด็กมีระดับการมองเห็นที่ 20/20

กล่าวคือ เด็กอาจจะใช้ตาข้างหนึ่งในการมองในระยะไกล และใช้ตาอีกข้างหนึ่งในการมองระยะใกล้

ทีมนักวิจัยที่ Retina Foundation of the Southwest ในเมือง Dallas รัฐ Texas ต้องการทดลองดูว่า พวกเขาจะสามารถปรับปรุงการบำบัดมาตรฐานที่ใช้ในการรักษาภาวะตาขี้เกียจในเด็กได้อย่างไร

Dr. Krista Kelly หัวหน้าการศึกษานี้กล่าวว่า ภาวะตามองเห็นชัดไม่เท่ากัน หรือภาวะตาขี้เกียจนี้ นอกจากจะทำให้มองเห็นไม่ชัดเเล้ว ยังทำให้เกิดความบกพร่องในความสามารถของการมองเห็นเชิงสามมิติ การอ่าน และความสามารถของการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กอีกด้วย

ความบกพร่องนี้จะไม่หายไปเเม้จะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เเล้วก็ตาม และเมื่อไม่สามารถมองเห็นเชิงสามมิติได้ คุณก็จะขับรถยนต์ไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ได้ และการมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวโดยทั่วไปจะบกพร่อง

ทีมนักวิจัยในรัฐเท็กซัสทีมนี้ ทำการทดลองรักษาภาวะขี้เกียจในเด็ก ด้วยการให้เด็กกลุ่มเเรกเล่นวิดีโอเกมที่ออกเเบบพิเศษบน iPad โดยไม่ปิดตาข้างที่ปกติดี แต่ให้เด็กสวมเเว่นตาเเทน

เด็กในการทดลองบำบัดอายุตั้งเเต่ 4 – 10 ปี เเว่นตาที่ทีมนักวิจัยให้เด็กสวมเป็นเเว่นตาที่ปรับการมองเห็นของเด็ก เด็กต้องใช้งานตาข้างที่อ่อนแอมากกว่าตาข้างที่ดีในการเล่นวิดีโอเกมดังกล่าว ซึ่งทำให้เด็กต้องใช้สายตาทั้งสองข้างร่วมกันในการเล่นวิดีโอเกม

ในเด็กที่เป็นภาวะตาขี้เกียจกลุ่มที่สอง ทีมนักวิจัยให้เด็กสวมที่ปิดตาข้างที่ดีเท่านั้น เมื่อครบสองสัปดาห์ ทีมนักวิจัยทำการประเมินผลการรักษาในเด็กทั้งสองกลุ่ม

Kelly หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่า ทีมนักวิจัยพบว่าเด็กกลุ่มที่สวมเเว่นตาและเล่นวิดีโอเกม มีอาการดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่สวมเฉพาะที่ปิดตาเท่านั้น

เด็กกลุ่มที่เล่นวิดีโอเกมบน iPad มีอาการดีขึ้นอย่างมาก จนทีมนักวิจัยทดลองให้เด็กทั้งสองกลุ่มเล่นวิดีโอเกม หลังจากนั้นอีกสองสัปดาห์ ทีมนักวิจัยพบว่าเด็กกลุ่มที่เพิ่งเริ่มเล่นวิดีโอเกมได้นาน 2 สัปดาห์ เริ่มมีอาการดีขึ้นเท่ากับเด็กกลุ่มเเรกที่เล่นวิดีโอเกมนาน 4 สัปดาห์

มาถึงตอนนี้ Kelly หัวหน้าทีมนักวิจัย วางแผนทดลองต่อไป โดยต้องการเพิ่มจำนวนเกมใหม่ๆ เข้าไปในการบำบัด หรืออาจจะใช้วิดีโอในการบำบัด โดยจะทดลองให้เด็กเล่นเกมหรือดูวิดีโอนานติดต่อกันกว่า 4 สัปดาห์ แล้ววัดผลดูว่าได้ผลดีมากขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเเค่ไหน

(รายงานโดย Carol Pearson / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)

XS
SM
MD
LG