ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองแบบใหม่ สร้างความหวังแก่ผู้ป่วยมะเร็งทรวงอก


การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองแบบใหม่สร้างความหวังแก่ผู้ป่วยมะเร็งทรวงอก

การผ่าตัดรักษามะเร็งทรวงอกด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Mastectomy) จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียต่อมน้ำเหลืองในบริเวณไปด้วยเเละในขณะที่การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมหลังการผ่าตัดอาจช่วยตกเเต่งให้ทรวงอกคืนรูปได้ เเต่การผ่าตัดปลูกถ่ายต่อมน้ำเหลืองทำได้ยาก

นอกจากต่อมน้ำเหลืองทำหน้าที่เหมือนเครื่องปั้มที่ช่วยระบายของเหลวออกจากร่างกายเเล้ว ยังช่วยนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเซลล์เเละยังช่วยขับเเบคทีเรียกับของเสียอีกด้วย หากไม่มีต่อมน้ำเหลือง ของเหลวจะตกค้างอยู่ในอวัยวะ ทำให้เกิดอาการบวมเเละทำให้เกิดอาการปวด

ซูซาน วูฟ-แทงค์ ( Susan Wolf-Tank) กล่าวว่า หลังการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ตนเองยกของไม่ค่อยได้ เพราะขยับเเขนข้างที่เต้านมถูกตัดไม่ค่อยได้ ทำให้งานง่ายๆ ในชีวิตประจำวันยากมากขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า วูฟ-แทงค์ กำลังทรมานจาก ภาวะบวมน้ำเหลือง (lymphedema)

ด็อกเตอร์เดวิด ซอง (David Song) ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมพลาสติกเเห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเมดสตาร์ จอร์จทาวน์ (Medstar Georgetown University Hospital) กล่าวว่า ภาวะบวมน้ำเหลืองเป็นอาการที่คนมักไม่รู้จักเนื่องจากยังไม่มีทางรักษา มีเเต่การดูเเลเเละจัดการเท่านั้น

ด็อกเตอร์เดวิด ซอง เป็นหนึ่งในศัลยเเพทย์พลาสติกเพียงไม่กี่คนที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายต่อมน้ำเหลืองในบริเวณรักเเร้ ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดที่ยาก ศัลยเเพทย์คนนี้จะนำต่อมน้ำเหลืองที่เเข็งเเรงดีจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายผู้ป่วย อาทิ จากหลัง จากสีข้าง เเล้วนำไปผ่าตัดปลูกถ่ายทดแทนต่อมน้ำเหลืองที่เสียหายไป

ด็อกเตอร์เดวิด ซอง กล่าวว่า ต่อมน้ำเหลืองใหม่ที่ปลูกถ่ายเข้าไปทดแทนจะกลายเสริมสร้างกลายเป็นท่อน้ำเหลืองใหม่ๆ เเละช่วยระบายของเหลว ของเสียเเละเเบคทีเรียออกจากร่างกายเเละลดอาการบวมที่เเขน

การผ่าตัดเเบบจุลศัลยกรรมนี้ ประสบความสำเร็จดีในผู้ป่วยบางราย เเต่ไม่ได้ผลกับทุกคน คุณวูฟ-เเทงค์ เป็นผู้ป่วยหนึ่งในบรรดาผู้ป่วยที่โชคดีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

เธอกล่าวว่าเมื่อฟื้นสติหลังการผ่าตัด เเขนข้างที่บวมน้ำเหลืองยุบลงอย่างมาก ไม่มีอาการปวดเเละเเขนเบาขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่ด็อกเตอร์ซองบอกว่าจะเห็นผลว่าดีขึ้นทันตาหลังการผ่าตัด

การผ่าตัดปลูกถ่ายต่อมน้ำเหลืองไม่ใช่วิธีรักษาภาวะบวมน้ำเหลืองให้หายขาด เเต่เมื่อมีโรงพยาบาลมากเเห่งขึ้นในสหรัฐฯ ที่ให้บริการการผ่าตัดนี้ ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากขึ้นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG