ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: ภาพปลอมเหตุระเบิดเพนตากอนทำตลาดหุ้นร่วงได้อย่างไร


Fake Pentagon Explosion
Fake Pentagon Explosion

ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา มีผู้นำภาพถ่ายที่มีกลุ่มควันไฟดำพุ่งขึ้นมาจากบริเวณข้าง ๆ อาคารทรง 5 เหลี่ยมที่คุ้นหน้าคุ้นตาคนทั่วโลกออกมาเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมข้อความกล่าวอ้างว่า เกิดเหตุระเบิดที่ใกล้ ๆ เพนตากอน อาคารที่ทำการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ

หลังมีการเผยแพร่ออกมาไม่นาน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ขานรับข่าวที่ไม่ได้มีการตรวจสอบนี้แต่สื่อหลายแห่งนอกสหรัฐฯ เร่งนำไปรายงานต่อแล้ว จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต้องรีบออกมาแถลงว่า ไม่ได้มีการระเบิดใด ๆ ดังในบริเวณที่ภาพและข่าวรายงานออกไป พร้อมยืนยันว่า ภาพที่มีการแชร์ออกไปนั้นเป็นภาพปลอมด้วย ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ภาพดังกล่าวเป็นฝีมือการปลอมโดยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และความนิยมของการใช้เทคโนโลยีนี้

สรุปแล้ว มีการระเบิดใกล้เพนตากอนดังในภาพที่มีการเผยแพร่ออกมาจริงหรือไม่

เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในเขตอาร์ลิงตันเคาน์ตี้ รัฐเวอร์จิเนีย เปิดเผยว่า ภาพเจ้าปัญหาที่ว่านั้นไม่ใช่ภาพจากสถานที่จริง และไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ติดกับกรุงวอชิงตันโดยมีเพียงแม่น้ำโพโตแมคไหล่คั่นตรงกลางเท่านั้น

Screenshot AFP, Fake Pentagon explosion image
Screenshot AFP, Fake Pentagon explosion image

ถึงกระนั้น ทั้งภาพและข้อความที่มาด้วยกันก็ถูกส่งต่อไปทั่วโดยสื่อต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง สำนักข่าว RT ของรัฐบาลรัสเซีย ที่เคยใช้ชื่อว่า Russia Today และข่าว ๆ นี้ยังถูกนำไปแชร์อย่างกว้างขวางในแวดวงการลงทุน โดยมีบัญชีทวิตเตอร์บลูที่มีเครื่องหมาย ‘ถูก’ สีฟ้ายืนยันตัวตนบัญชีหนึ่งซึ่งอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ภาพและข่าวนี้มาจากสื่อ บลูมเบิร์ก นิวส์ (Bloomberg News)

ในส่วนของการรายงานโดยสื่อ RT นั้น สำนักข่าวรัสเซียแห่งนี้ทวีตข้อความผ่านบัญชีที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคนว่า “มีรายงานเกี่ยวกับเหตุระเบิดใกล้ ๆ กับเพนตากอนในกรุงวอชิงตัน” ก่อนที่จะลบทวีตดังกล่าวออกไปภายหลัง

ต่อมา RT ยืนยันว่า ได้ทำการลบทวีตข้อความนั้นไปแล้ว และยังได้ “รายงานข้อมูลทางการจากเพนตากอนเกี่ยวกับประเด็นนี้แล้ว” หลังตรวจสอบพบว่า ข่าวที่ออกไปก่อนหน้าไม่ถูกต้อง

สำนักข่าว RT ระบุในแถลงการณ์ที่ออกมาในวันอังคารว่า “จากการตรวจสอบความถูกต้องของข่าวที่มีการรายงานอย่างรวดเร็ว เราขอประกาศให้สาธารณะรับทราบเกี่ยวกับรายงานที่มีการเผยแพร่และทันทีที่มีการตรวจสอบที่มาจนแน่ใจแล้ว เราจึงดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขการรายงานข่าว”

อย่างไรก็ตาม เวลาที่มีการเผยแพร่ภาพปลอมนี้ออกมาก่อนเกิดก่อนที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเปิดทำการเวลา 9.30 น. ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นคลื่นกระทบตลาดการลงทุนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ ดัชนี้ S&P 500 อ่อนตัวลงเล็กน้อยทันทีที่ 0.3% ขณะที่ เว็บไซต์การลงทุนและบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนพากันแชร์ข่าวปลอมนี้ซ้ำ ๆ กันอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ทิศทางการลงทุนในหมวดอื่น ๆ ก็ขยับไปในทิศทางที่มักเกิดขึ้นเมื่อมีกระแสความตื่นกลัวปกคลุมตลาด อย่างเช่น ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และราคาทองคำที่ปรับขึ้นช่วงระยะเวลาหนึ่งเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนนั้นก็เร่งหาที่ ๆ ปลอดภัยเพื่อนำเงินของตนไปพักไว้อยู่

แต่ภาพที่มีการส่งต่อกันไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วทำให้หน่วยดับเพลิงอาร์ลิงตันเคาน์ตี้ต้องออกมาประกาศแก้ข่าวผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์โดยด่วน ด้วยการส่งข้อความที่ระบุว่า “@PFDAOfficial (หน่วยปกป้องกองกำลังเพนตากอน – Pentagon Force Protection Agency) และ ACFD (หน่วยดับเพลิงอาร์ลิงตันเคาน์ตี้ – Arlington County Fire Department) ตระหนักดีเกี่ยวกับรายงานทางสื่อสังคมที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับเหตุระเบิดใกล้เพนตากอน ... ไม่มีการระเบิดหรือเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นที่หรือใกล้กับเขตสงวนเพนตากอน และไม่มีภัยอันตรายหรือพิษภัยต่อสาธารณชน”

ร้อยเอก เนท ไฮเนอร์ โฆษกหน่วยดับเพลิง ยืนยันว่า ทวีตที่ออกมาและอ้างถึงข้างต้นเป็นของแท้ แต่ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเพิ่มเติม และแนะให้ผู้สื่อข่าวไปติดต่อสำนักงานตำรวจเพนตากอน แต่เมื่อติดต่อไป ก็ไม่ได้รับการตอบกลับไม่ว่าจะทางอีเมลหรือโทรศัพท์

ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลเท็จให้ความเห็นว่า ภาพปลอมนี้น่าจะเป็นฝีมือของโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีความสามารถในการสร้างภาพให้คล้ายจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็มักมีจุดบกพร่อง และมักมีผู้นำมาเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลายเมื่อเร็ว ๆ นี้

เฮนี ฟาริด ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ทางดิจิทัล กล่าวว่า ความไม่สอดคล้องกันของตัวอาคาร รั้วและสภาพแวดล้อมโดยรอบ คือ ความไม่สมบูรณ์แบบที่มักพบได้บ่อยในภาพที่สร้างด้วย AI พร้อมระบุว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง [ในภาพดังกล่าว] หญ้าและส่วนที่เป็นคอนกรีตเลือนหายเข้าหากัน ตัวรั้วก็ดูไม่ปกติ มีเสาสีดำแปลก ๆ โผล่ขึ้นมา 1 ต้นที่ด้านหน้าของทางเดินเท้า แต่ก็ดูเป็นส่วนหนึ่งของรั้วด้วย” และว่า “หน้าต่างของอาคารก็ดูไม่สอดคล้องกันกับภาพของเพนตากอนที่สามารถหาดูได้ทางออนไลน์”

ส่วนชีรัก ชาห์ ผู้อำนวยการร่วมของ Center for Responsibility in AI Systems & Experiences จากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน ซีแอตเติล เตือนว่า การตรวจหาจุดปลอม ๆ นั้นไม่ใช่สิ่งที่หาได้ง่าย ๆ เสมอ และแนะว่า สังคมนั้นจะต้องเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับ “การกระจายปัญหาไปยังกลุ่มคนเพื่อหาคำตอบและวิธีแก้ปัญหา (crowdsourcing) และการเฝ้าระวังในชุมชนเพื่อคัดกรองข้อมูลแย่ ๆ และสรุปหาความจริงให้ได้” ขณะที่ เทคโนโลยี AI ยังคงพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องอยู่

ชาห์ ระบุในอีเมล์ที่ส่งมายังผู้สื่อข่าวด้วยว่า “การพึ่งพาเครื่องมือตรวจจับหรือโพสต์สื่อสังคมออนไลน์เพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพออีกต่อไป” ด้วย

A trader works on the floor at the New York Stock Exchange in New York, Thursday, May 19, 2022. Stocks are opening moderately lower in early trading on Wall Street, finding some stability a day after their biggest drop in nearly two years. (AP Photo/Seth
A trader works on the floor at the New York Stock Exchange in New York, Thursday, May 19, 2022. Stocks are opening moderately lower in early trading on Wall Street, finding some stability a day after their biggest drop in nearly two years. (AP Photo/Seth

อย่างไรก็ดี อดัม เคเบสซิ บรรณาธิการใหญ่ของ The Kobeissi Letter ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อภาคอุตสาหกรรม เตือนว่า ขณะที่ ตลาดมีพฤติกรรมตอบรับต่อข่าวเด่นที่จับความสนใจประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ข่าวเท็จอาจสร้างความเสียหายอย่างมากถ้ามีสื่อต่าง ๆ นำไปแชร์ แม้ว่าข่าวนั้นอาจจะดูแล้วไม่น่าเชื่อถือเท่าใด

เคเบสซิ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเคลื่อนไหวหลายครั้งในแบบนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง (High Frequency Trading - HFT) และการลงทุนที่ใช้หลักคณิตศาสตร์สถิติและข้อมูลต่างๆในการทดสอบและยืนยันสมมุติฐานของกลยุทธ์การลงทุน (algorithmic trading) ซึ่งมีการติดตามหัวข้อข่าว นำมาสังเคราะห์ และแตกย่อยมาใช้ในการซื้อขาย[หลักทรัพย์] ในแบบเสี้ยววินาที (millisecond) … ง่าย ๆ ก็คือ เหมือนว่า คุณเหนี่ยวไก[ปืน] ทุกครั้งที่มีหัวข้อข่าวออกมา”

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG