ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สัมภาษณ์พิเศษ: ‘เทนนิส พาณิภัค' เปิดใจหลังสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเทควันโดหญิง


‘Tennis’ Panipak Wongpattanakit
‘Tennis’ Panipak Wongpattanakit
Tennis Olympic Gold Medalist
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:28 0:00
Direct link


เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั่วโลก หลังน้องเทนนิส หรือ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดชาวไทย คว้าเหรียญทองบนเวทีการแข่งขันระดับโลกที่โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

วีโอเอไทยได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์นักกีฬาหญิงที่สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกให้แก่ทัพนักกีฬาเทควันโดไทย ที่โรงแรมในจังหวัดภูเก็ต

VOA's Thai Janine Phakdeetham (left), Panipak's father (second left), and Olympic Gold Medalist in Tae Known Do Panipak Wongpattanakit (right) in Phuket, Thailand
VOA's Thai Janine Phakdeetham (left), Panipak's father (second left), and Olympic Gold Medalist in Tae Known Do Panipak Wongpattanakit (right) in Phuket, Thailand

เสียงขานชื่อนักกีฬาสาวชาวไทย พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หรือ น้องเทนนิส แชมป์เหรียญทองโอลิมปิกกีฬาเทควันโดรุ่น 49 กิโลกรัม ดังก้องสถานแข่งขันที่โตเกียวเกมส์ 2020 ณ ประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม

อันดับแรก ก็จะเอาไปผ่อนบ้านให้พ่อค่ะ เพราะว่าเมื่อปีที่แล้วซื้อบ้านค่ะ เราก็เป็นหนี้อยู่หลายล้านมากนะคะ


พาณิภัค เล่าให้วีโอเอไทยฟังถึงความรู้สึกในการสร้างประวัติศาสตร์ให้ทัพนักกีฬาไทย และความภาคภูมิใจแก่กองเชียร์ชาวไทยทั่วโลกที่ต่างลุ้นจนตัวโก่งในช่วง 7 วินาทีสุดท้ายที่เธอสามารถพลิกเกมส์และกลับมาชนะคู่แข่งจากประเทศสเปนได้อย่างหวุดหวิด ว่า

“พอมันทำได้ทุกอย่างคือแบบทุกอย่างมันโล่งมากๆ มันทำได้สักที...แล้วมันเป็นเหรียญแรกของทัพนักกีฬาเทควันโดในประวัติศาสตร์ คือยังไม่มีค่ะเหรียญทองโอลิมปิกเลยในเทควันโดค่ะ เราทำมันได้แล้ว ก็ดีใจมากที่ปลดล็อคให้กับทีมได้ค่ะ”

ตารางการซ้อมสุดหฤโหด ที่ช่วยให้เธอคว้าแชมป์มาครองได้

กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ พาณิภัคบอกว่าเธอต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างมหาโหดเป็นเวลาหลายเดือน

สาวน้อยทื่เลื่องชื่อเรื่องพลังเตะแบบสุดพิฆาตอธิบายถึงโปรแกรมการฝึกคร่าวๆ ว่า

‘Tennis’ Panipak Wongpattanakit
‘Tennis’ Panipak Wongpattanakit


“การฝึกซ้อมของเราคือเป็นเต็มเวลาทั้งวันเลยค่ะ ตื่นตี 5 ครึ่ง ถึง 6 โมงเช้า มาวิ่งถึง 8 โมงเช้าค่ะ เป็นโปรแกรมวิ่งที่เหนื่อยมากๆ เหนื่อยหัวใจจะหลุดออกจากอกแล้วค่ะ Heart rate ขึ้นไปจะ 200 คือแบบจะตายแล้วจริงๆ แต่ยังไม่ตายค่ะ (หัวเราะ)...ไปต่อรอบกลางวันนะคะ ตอน 11 โมงถึงเที่ยงนี้ รอบนี้จะเป็น weight training ค่ะ...พอซ้อมรอบ 2 เสร็จ ก็จะนอนพักแล้วก็ซ้อมรอบเย็น...แล้วหลังจากนั้นก็กินข้าว เสร็จ 2 ทุ่ม ก็ไปคุยกับนักจิตวิทยา คือต้องฝึกจิตใจด้วยค่ะ เสร็จก็ไปกายภาพ ไปบู๊ทส์ตัวเองและร่างกายค่ะ จนถึง 4 ทุ่มก็รีบเข้านอน...ทุ่มเทให้มันสุดฤทธิ์สุดเดชไปเลยค่ะ“

2 ข้อคิดสำคัญที่ช่วยให้น้องเทนนิสคว้ารางวัลต่างๆ มาได้

ส่วนเรื่องเคล็ดลับในการประสบความสำเร็จ พาณิภัคสรุปให้ฟังว่าการลงมือปฏิบัติและการมีทัศนคติที่บวกและนั้นเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ เธอบอกว่าสามารถใช้ได้กับทุกอาชีพ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักกีฬาเหมือนเธอก็ได้

“ไม่ใช่เพียงแค่ฝันเท่านั้น เพราะฝันมันไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้แน่นอนค่ะ เราต้องลงมือทำ อย่างน้อยเราก็มีโอกาสสำเร็จ 1% หรือ 2%แน่นอนค่ะ ถ้าเรามัวแต่ฝันนั่นคือ 0% ค่ะ อยากให้ลงมือทำกับความฝัน แล้วก็สิ่งที่ชอบนะคะ เป็นกำลังใจให้ทุกคนเลยค่ะ...ตอนที่ท้อ ก็มีคุยกับนักจิตวิทยาค่ะ แล้วก็บอกตัวเองว่า ตั้งเป้าหมายไว้ คือหนูก็ตั้งเป้าหมายชัดเจนมากๆค่ะ คือหนูอยากได้เหรียญทอง...ก็บอกตัวเองว่าต้องอดทน เดี๋ยวมันก็ผ่านไปนะ ความเหนื่อยอันนี้นะมันไม่ตายหรอก (เวลา)มันผ่านไปแล้วมันผ่านไปเลย”

Tokyo 2020 Olympic medals are made from recycled electronics collected across 1,621 municipalities in Japan
Tokyo 2020 Olympic medals are made from recycled electronics collected across 1,621 municipalities in Japan

เหรียญทองโอลิมปิก และ ช่อดอกไม้แห่งชัยชนะ ที่ไม่ธรรมดา

สำหรับเหรียญทองโอลิมปิกที่เปรียบเสมือนรางวัลสูงสุดของนักกีฬาทั่วโลกที่พาณิภัคคว้ามาได้ ก็มีความพิเศษในด้านอื่นๆ อีกด้วย เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้เก็บสะสมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว ราว 78,985 ตันจากทั้งเมืองเล็กและใหญ่ถึง 1,621 ทั่วประเทศ มาหลอมรวมเป็นเหรียญรางวัลทั้งสามชนิด

ส่วนช่อดอกไม้แห่งชัยชนะที่นักกีฬาโอลิมปืกได้รับนั้นก็มีเรื่องราวที่สะท้อนถึงความหวังและความแข็งแกร่งของคนในประเทศ

น้องเทนนิสยกเหรียญทองโอลิมปิกขึ้นมาให้ดู ขณะอธิบายถึงความไม่ธรรมของรางวัลชิ้นนี้ “อันนี้ก็คือเหรียญที่ทำมาจากขยะรีไซเคิลค่ะ...เป็นเหรียญที่ทางญี่ปุ่นเขาคิดมาดีมากๆ เลยค่ะ แล้วก็มีช่อดอกไม้ ช่อดอกไม้มันก็มีเรื่องราวที่ดีมากเลยค่ะ เขาไปเก็บมาจากที่มีสึนามิและก็แผ่นดินไหวในปี 2011 ค่ะ ทุกอย่างมีเรื่องราวที่ดีมากๆ แล้ว เราก็ไม่อยากทิ้งเลยทั้งที่เป็นดอกไม้สด ก็จะเก็บไว้ใส่กล่องมาให้สวยๆ แน่นอน”​

The Olympic victory bouquets are made of flowers grown in the areas that were devastated by the earthquake in 2011
The Olympic victory bouquets are made of flowers grown in the areas that were devastated by the earthquake in 2011

กักตัว Phuket Sandbox ในฐานะทูตกีฬาและท่องเที่ยว

หลังจากแข่งขันที่กรุงโตเกียวเสร็จ ฮีโร่สาววัย 24 ปีก็บินลัดฟ้ากลับประเทศไทยและเข้ากักตัวกับโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเป็นการกักตัวที่อนุญาตให้ผู้ที่เข้าร่วมสัมผัสความงามและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ภายในเกาะภูเก็ตได้

ทั้งนี้ พาณิภัค ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตการกีฬาและท่องเที่ยวจากรัฐบาลไทยอีกด้วย

“ก็มากักตัวที่ภูเก็ตค่ะ ก็ได้ไปเที่ยวทะเล แล้วก็ไปกินอาหารทะเล เป็นคนชอบอาหารทะเลมาก มาครั้งนี้คือได้กินแบบสมใจอยากเลย เพราะว่าอดอาหาร ควบคุมน้ำหนักมาเป็นเวลาหลายเดือนมากๆค่ะ..กินกุ้งย่าง ปลาหมึกย่าง หอย ทุกอย่าง ชอบกินมากๆ ครั้งนี้คือแบบว่าเป็นอะไรที่สุดแล้วจริงๆ ได้ทำทุกอย่าง แบบได้ไปเที่ยวมากกว่าในชีวิตนี้ที่ไปมาอีก ไปเที่ยวทะเลมา 3-4 วันติด ได้ไปพายคายัดที่เกาะเฮค่ะ เป็นเรือท้องใสด้วย ก็เห็นปะการังข้างล่างสวยมากๆ ค่ะ”

‘Tennis’ Panipak Wongpattanakit
‘Tennis’ Panipak Wongpattanakit

เมื่อถามถึงบรรยากาศการท่องเที่ยวท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด พาณิภัคเน้นถึงเรื่องการดูแลตนเองขณะกักตัวภายใต้โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ว่า

”ตอนนี้ไปเที่ยวที่ไหนก็ไม่ไว้ใจใครทั้งนั้น เราต้องใส่แมสเข้าหากันตลอดเพราะว่าเคสมันก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ก็ต้องมองว่าคนนี้ติดแน่เลย เราก็ไม่ไว้ใจใครทั้งนั้น ป้องกันตัวเองไว้ดีกว่า แล้วก็ใส่แมส ล้างมือบ่อยๆ ล้างเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่ทำอะไรเสร็จ ก็ป้องกันตัวอย่าง 100% ค่ะ”

เงินรางวัลอัดฉีดกว่า 13 ล้านบาท จะใช้ทำอะไร?

นักกีฬาสาวคนนี้ได้รับเงินรางวัลอัดฉีดจากหน่วยงานและแบรนด์ต่างๆ กว่า 13 ล้านบาท เธอบอกวีโอเอถึงแผนการใช้เงินก้อนนี้ว่า

“อันดับแรก ก็จะเอาไปผ่อนบ้านให้พ่อค่ะ เพราะว่าเมื่อปีที่แล้วซื้อบ้านค่ะ เราก็เป็นหนี้อยู่หลายล้านมากนะคะ...เพราะว่าพ่อก็มาจากต่างจังหวัดที่สุราษฎร์ธานี ในตอนแรกต้องนั่งรถทัวร์ไปกลับเพื่อมาหาลูกทุกเสาร์อาทิตย์นะคะ ตอนนี้คือแบบว่าเราก็มีเงินที่จะให้พ่อได้อยู่ใกล้ๆเ รา แล้วพ่อก็มาเติมกำลังใจให้หนูเวลาฝึกซ้อมได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ….อีกอย่างก็จะเปิดยิมเล็กๆ สอนเด็กๆ แล้วก็เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนลุกขึ้นมาสู้ แบบเด็กตัวเล็กๆอย่างเรายังทำได้เลย”

น้องเทนนิสบอกว่า ยิมที่อยากจะเปิดในอนาคตจะเป็นยิมสำหรับฝึกเล่นเทควันโด้โดยเฉพาะ ซึ่งเธอจะรับหน้าที่เป็นผู้สอนเอง เธอบอกว่านักเรียนทุกคนจะต้องผ่านการฝึกเวอร์ชั่นเต็มจากเธอ

เป้าหมายในอนาคต ไม่หยุดเพียงเหรียญนี้

สำหรับแผนในอนาคต พาณิภัคตั้งใจที่เข้าแข่งขันเทควันโด้บนเวทีระดับโลกอีกหลายๆ ครั้ง เพื่อที่จะคว้าเหรียญทองมาให้ประเทศไทยอีก อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าเธอจะไม่กดดันตัวเอง แต่ทำทุกการแข่งขันให้ดีและสุดความสามารถของเธอ

ไม่ใช่เพียงแค่ฝันเท่านั้น เพราะฝันมันไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้แน่นอนค่ะ เราต้องลงมือทำ อย่างน้อยเราก็มีโอกาสสำเร็จ 1% หรือ 2%แน่นอนค่ะ ถ้าเรามัวแต่ฝันนั่นคือ 0% ค่ะ


“จะต้องทำผลงานต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดเพียงแค่เหรียญทองเหรียญนี้เท่านั้นแน่นอนค่ะ

กลับไปจากนี้ก็ ต้องฝึกซ้อมหนักขึ้นแน่นอน เพราะว่าเราเป็นที่หนึ่ง คนก็จ้อง จะมาล้มเรา เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงการเล่นไปเรื่อยๆให้คนจับทางไม่ได้ค่ะ เป้าหมายก็คือ อยากได้เหรียญทองโอลิมปิกครั้งนึง อยากได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์อีกครั้งนึง เหรียญทองแชมป์โลกอีก 3 สมัย”

ท้ายนี้นักกีฬาสาวบอกว่า ถ้าเธอไม่ซ้อมกีฬา งานอดิเรกของเธอก็คือการไปเที่ยวร้านกาแฟที่น่ารักๆ ตามที่ต่างๆ และถ่ายรูปลงในโชเชียลค่ะ

(เรื่องและภาพ โดย จณิน ภักดีธรรม / วีโอเอ ภาคภาษาไทย / รายงานจากจังหวัดภูเก็ต)

XS
SM
MD
LG