ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยุโรปขอให้สหรัฐฯ และอิหร่านอดกลั้น ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูง


Secretary Pompeo Meets With EU High Representative Mogherini
Secretary Pompeo Meets With EU High Representative Mogherini
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:00 0:00

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วยุโรป

ยุโรปเชื่อว่าโอกาสที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านจะบานปลายมีอยู่สูงมาก และนั่นก็เป็นสิ่งที่ผู้แทนยุโรปได้บอกกับ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เมื่อนายพอมเพโอเดินทางเยือนกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

เฟเดริกา โมเกรินี่ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคง กล่าวว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญและเปราะบาง และสิ่งที่ทุกฝ่ายควรจะมี คือการยับยั้งชั่งใจอย่างสูงสุดเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหาร

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้ส่งเครื่องบินขับไล่โจมตีไปยังตะวันออกกลาง และยังมีเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ที่ฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ประเทศกาตาร์ เพื่อปฏิบัติภารกิจที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกว่าเป็นการต่อสู้ภัยคุกคามจากอิหร่านที่มีต่อกองกำลังสหรัฐฯ

แจ็ค วัทลิ่ง นักวิเคราะห์จากสถาบัน Royal United Services Institute กล่าวว่าท่าทีของอิหร่าน เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง

“คำถามตอนนี้ก็คือ อิหร่านจะตอบโต้หรือไม่ และจะแสดงออกอย่างไร เพื่อให้สหรัฐฯ รู้ว่าถ้าสหรัฐฯ จะกดดันอิหร่านไปเรื่อย ๆ อิหร่านก็จะไม่นิ่งเฉย และหากอิหร่านตอบโต้ขึ้นมาจริง ๆ ก็อาจจะมีโอกาสที่ความตีงเครียดตอนนี้ลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน จะลุกลามไปทั่วตะวันออกกลางอย่างรวดเร็ว และสหรัฐฯ จะต้องเตรียมความพร้อมทางทหารเพื่อต่อสู้กับทั้งภูมิภาค

เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้ในปี 2558 กับอิหร่าน และกลุ่มชาติมหาอำนาจอื่น ซึ่งประกอบด้วย ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี จีน และรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ ยุโรปได้พยายามที่จะให้อิหร่านยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์จนกว่าจะหมดสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ท่าทีของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา อาจจะทำให้อิหร่านไม่มีแรงจูงใจที่จะทำเช่นนั้น

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง กล่าวว่า อิหร่านได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงบางส่วนแล้ว แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กดดันอิหร่านอย่างหนัก จนอาจจะทำให้อิหร่านไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่เหลือได้ และเมื่อถึงจุดนั้น ยุโรปก็จะต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร

ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้เพิ่มความกดดันทางเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ส่งผลให้อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ต้องหยุดซื้อน้ำมันจากกรุงเตหะราน

นายโมฮัมมัด จาวาด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน กล่าวว่าสหรัฐฯ ได้ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็น อิหร่านจะไม่ทำอะไรแบบนั้น แต่อิหร่านก็ต้องปกป้องประเทศตัวเองเช่นกัน

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ทำให้ยุโรปตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ระหว่างสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ยุโรปยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และคำเตือนของอิหร่านที่ว่า หากยุโรปออกจากข้อตกลง อิหร่านจะฟื้นฟูโครงการนิวเคลียร์ขึ้นมาอย่างแน่นอน

XS
SM
MD
LG