รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) กำลังพิจารณาหาทางดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจหลักต่างๆ ของเบลารุส หลังจากที่ออกคำสั่งห้ามเที่ยวบินจากประเทศยุโรปตะวันออกแห่งนี้ไม่ให้บินผ่านน่านฟ้าของตนไปก่อนหน้านี้
รายงานข่าวจากสำนักข่าว AFP ในวันศุกร์ที่อ้างข้อมูลจากนักการทูตรายหนึ่งของยุโรประบุว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอียูจะมีการประชุมที่กรุงลักเซมเบิร์กในวันจันทร์ จะมีการหารือเกี่ยวกับมาตรการที่มีผลในวงกว้างซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการลงโทษส่วนที่เรียกว่าเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลของประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก
แหล่งข่าวจากแวดวงนักการทูตยุโรประบุว่า มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจรอบใหม่นี้น่าจะพุ่งเป้าไปยังส่วนที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจเบลารุส เช่น ธุรกิจส่งออกปุ๋ยโปแตช ธุรกิจยาสูบ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี รวมทั้งน่าจะมีการยกระดับมาตรการจำกัดการส่งออกอายุธยุทโธปกรณ์จากอียูเพื่อป้องกันการนำไปใช้ปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงของเบลารุสด้วย
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวดังกล่าวเปิดเผยว่า รัฐมนตรีอียูยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการที่จะดำเนินต่อภาคธุรกิจการเงินได้ เนื่องจากมีการคัดค้านโดยประเทศออสเตรีย ซึ่งมีสายสัมพันธ์ธุรกิจการธนาคารที่ใกล้ชิดกับเบลารุสอยู่
ปธน.ลูคาเชนโก สร้างความไม่พอใจให้กับประชาคมโลกอย่างมาก เมื่อสั่งให้เครื่องบินไอพ่นของกองทัพเบลารุสบินประกบเที่ยวบินของสายการบินไรอันแอร์ ที่บินระหว่างกรุงเอเธนส์และกรุงวิลนีอุส เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อบังคับให้เที่ยวบินนั้นลงจอดที่กรุงมินสก์แทน ก่อนที่จะดำเนินการจับกุม รามัน ปราตาเซียวิช ผู้สื่อข่าวฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล พร้อมแฟนสาว และควบคุมตัวทั้งคู่ไว้นับแต่นั้นมา
ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์นี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอียูมีกำหนดที่จะลงนามอย่างเป็นทางการในคำสั่งอายัดทรัพย์สินและขึ้นบัญชีดำห้ามออกวีซ่าให้กับชื่อบุคคลและองค์กรต่างๆ กว่า 80 รายด้วย โดยรายงานข่าวระบุว่า มีอยู่ 7 คนในรายชื่อนี้ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบังคับสายการบินไรอันแอร์ให้ลงจอดเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่ บุคคลและองค์กรอื่นๆ ในบัญชีดำนี้เป็นผู้มีส่วนร่วมกับการปราบปรามกลุ่มต่อต้านทางการเมืองในประเทศ
เมื่อปีที่แล้ว อียู ดำเนินการลงโทษทางเศรษฐกิจบุคคลทั้งหมด 88 ราย ซึ่งรวมถึง ปธน.ลูคาเชนโก และบุตรชาย ฐานสั่งปราบปรามผู้ประท้วงผู้นำประเทศรายนี้ หลังประกาศชัยชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว ที่ชาติตะวันตกทั้งหลายกล่าวหาว่า เป็นการลงคะแนนที่เต็มไปด้วยเหตุทุจริต
ปธน.ลูคาเชนโก ปกครองเบลารุสมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 และตลอดเวลาที่ผ่าน แสดงท่าทีไม่แยแสต่อแรงกดดันจากโลกตะวันตก เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของตน
ทั้งนี้ สเวตลานา ทิคานอฟสคายา ผู้นำฝ่ายค้านที่ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศมา แม้จะยืนยันว่าตนคือผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มีกำหนดจะเข้าพบรัฐมนตรีอียูก่อนการประชุมในวันจันทร์ด้วย