ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ภาวะโลกร้อนจุดพลังขับเคลื่อนทางสังคมของ "คนรุ่นใหม่"


Students are seen attending a "Climate Strike" protest in Canberra, Australia, March 15, 2019.
Students are seen attending a "Climate Strike" protest in Canberra, Australia, March 15, 2019.
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:11 0:00

พลังของเยาวชนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองทั่วโลกมาตั้งแต่อดีต ซึ่งมีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่สำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งใหม่ของเยาวชนทั่วโลก ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สร้างความตระหนักถึงพลังของคนรุ่นใหม่ในศตวรรษนี้ได้อย่างน่าสนใจ

Alyssa Weissman นักเรียนมัธยมชาวอเมริกัน ลุกขึ้นกล่าวบนเวทีชุมนุมที่กรุงวอชิงตัน ว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะเลิกทำแค่เฝ้ามองดู ถึงเวลาแล้วที่เราจะตอบโต้บ้าง เพราะพวกเราคือกลุ่มคนที่จะต้องเป็นผู้นำในระดับนานาชาติในอนาคต

Alyssa เป็นหนึ่งในเด็กมัธยมชาวอเมริกันในกรุงวอชิงตันและปริมณฑล ที่ออกมาผละเรียนเพื่อเรียกร้องให้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน เมื่อ 15 มีนาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับนักเรียนในรุ่นราวคราวเดียวกันถึง 1.5 ล้านคน จากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ที่ร่วมชุมนุม School Strike for Climate ที่มาจาก Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวด้านปัญหาโลกร้อนชาวสวีเดนวัย 15 ปี ที่ผลักดันให้มีการชุมนุมในเรื่องนี้อย่างจริงจังทั่วโลก

สำหรับ Patricia Maulden นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย George Mason University ในเวอร์จิเนีย บอกว่า ผู้ใหญ่ในวันนี้ก็เคยเป็นเด็กมาก่อน และเคยมีการชุมนุมเคลื่อนไหวให้มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน แต่คุณรุ่นนี้หรือผู้ใหญ่ในปัจจุบันยังคง “ยึดติด” กับระบบหรือสิ่งที่เคยเป็นอยู่ ขณะที่เยาวชนและคนรุ่นใหม่เห็นว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ประกอบกับการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ ได้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เชื่อมต่อเรียนรู้กันได้ทั่วโลก ก็เป็นแรงผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวในระดับโลกได้มากขึ้น

Patricia เห็นว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่เยาวชนเข้าใจและเข้าถึงมากกว่าผู้ใหญ่ และพวกเขากังวลถึงอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุคของพวกเขา

Emma O’Driscoll ผู้ประท้วงในกรุงวอชิงตัน บอกว่า นี่คือหน้าที่ของนักอุดมการณ์รุ่นใหม่ ซึ่งต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าแม้เราจะยังเด็กและอาจจะอ่อนประสบการณ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะเราได้ศึกษาในเรื่องนี้มาอย่างดีและมีความห่วงใยถึงอนาคตที่กำลังมาถึงและเราต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้

Kevin Crandall นักเคลื่อนไหวอีกคน บอกว่า เนื่องจากเยาวชนในยุคนี้จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังของประเทศในอนาคต ปัญหาโลกร้อนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเราเพราะนี่คืออนาคตของพวกเรา

การชุมนุม School Strike for Climate ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งแรกของวัยรุ่นอเมริกันยุคนี้ โดยเมื่อปีก่อนการเดินขบวน March for Our Lives ว่าด้วยการเรียกร้องให้มีกฏหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวด หลังเหตุยิงกราดในโรงเรียนมัธยม Parkland รัฐฟลอริดา ซึ่งทำให้นักเรียนมัธยมเสียชีวิตอย่างน้อย 17 คน ทำให้เยาวชนอเมริกันไม่อาจทนกับความนิ่งเฉยของผู้ใหญ่ที่มีอำนาจทางการเมืองได้

นักวิจัยจาก George Mason University ยังไม่อาจประเมินได้ว่าการเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนในอเมริกาจะดำเนินต่อไปได้อีกไกลหรือไม่ แต่อย่างน้อยเสียงจากเยาวชนที่นี่ได้รับความใส่ใจจากบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีบทบาททางการเมือง อาทิ ฮิลลารี คลินตัน ลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ และ สส.หญิงชาวอเมริกันเชื้อสายโซมาลี อิลฮาน โอมาร์ ที่ขึ้นกล่าวกับนักเรียนมัธยมที่มาชุมนุมที่กรุงวอชิงตัน ชื่นชมและขอบคุณเยาวชนทุกคนที่มาชุมนุมเพื่ออนาคตของตัวเอง และขอบคุณผู้ใหญ่ทุกคนที่มาร่วมชุมนุมเพื่อให้ความเชื่อมั่นกับเยาวชนเหล่านี้ว่าอนาคตของพวกเขายังคงมีอยู่

ณ วันนี้ก็ยังไม่อาจตอบได้ว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมของเยาวชนทั่วโลกที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์เลือกตั้ง จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงให้กับสังคมได้ในระดับโลกได้แค่ไหน แต่อย่างน้อยที่สุดก็สะท้อนถึงความร่วมมือร่วมใจของคนรุ่นใหม่ที่มีพลังที่สุดในศตวรรษนี้

XS
SM
MD
LG