ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เชฟรอน ตกเป็นเป้าโจมตีหลังแสดงความสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา


Chevron Texas
Chevron Texas
Business News
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:31 0:00


เชฟรอน บริษัทน้ำมันและก๊าซที่มีขนาดใหญ่อันดับสองของสหรัฐฯ ตกเป็นเป้าโจมตีหนัก หลังยังเดินหน้าทำธุรกิจในเมียนมา ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนด้านการเงินให้กับกองทัพที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ นางอองซานซูจี และทำการปราบปราบผู้ชุมนุมต่อต้านทั่วประเทศด้วยมาตรการรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วไม่น้อยกว่า 700 คน

หนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวและรายงานว่า ในเวลานี้ เชฟรอน ได้ส่งนักเคลื่อนไหวล็อบบี้ยิสต์หลายรายเข้าพูดคุยกับหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ หลายแห่ง เพื่อลดแรงกดดันให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน สั่งลงโทษทางเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้นต่อกองทัพเมียนมา ซึ่งรวมถึง กิจการพลังงานของรัฐที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลทหารด้วย

รายงานข่าวระบุว่า เชฟรอน กล่าวว่า การลงโทษทางเศรษฐกิจที่รวมความถึงกิจการน้ำมันและก๊าซในเมียนมา อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงทางพลังงานระยะยาวจากแหล่งผลิตสำคัญในเมียนมา ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของตน รวมทั้งยังอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านมนุษยธรรม สำหรับประชาชนในเมียนมาที่พึ่งพาพลังงานจากแหล่งนี้ ทั้งยังอาจทำให้พนักงานของบริษัทถูกดำเนินคดีอาญาในเมียนมาด้วย

หลังเกิดเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1กุมภาพันธ์ ที่ตามมาด้วยการชุมนุมประท้วงของประชาชน และการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยกองทัพเมียนมา สมาชิกพรรคเดโมแครตในรัฐสภาสหรัฐ นักการทูตและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย เดินหน้ากดดันให้รัฐบาลของปธน.ไบเดน สั่งลงโทษทางเศรษฐกิจต่อธุรกิจที่รัฐบาลเมียนมาเป็นเจ้าของให้หมด โดยผู้สอบสวนด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติรายหนึ่ง กล่าวกับสมาชิกสภาคองเกรสเมื่อเดือนที่แล้วว่า บริษัทของรัฐบาลเมียนมา “ในเวลานี้ ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยกลุ่มอาชญากรที่เป็นฆาตกรแล้ว”

ก่อนหน้านี้ Globe Newswire รายงานว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม อาทิ International Campaign for the Rohingya และ SumOfUs นำทีมจัดการประท้วงบริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกันแห่งนี้ในหลายเมืองทั่วประเทศ เช่น ซาน ฟรานซิสโก ลอส แอนเจลิส ฮิวสตัน นิวยอร์ก และกรุงวอชิงตัน เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ เชฟรอน ยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา และเรียกร้องให้บริษัทแห่งนี้ รวมทั้งบริษัทพลังงานอื่นๆ ที่ทำธุรกิจในเมียนมาระงับการจ่ายเงินต่างๆ ให้รัฐบาลกรุงเนปิดอว์จนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่สภาวะปกติและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา

ทั้งนี้ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ อ้างข้อมูลจากนักวิเคราะห์ในรายงานว่า แหล่งที่มาของรายได้สำคัญแหล่งหนึ่งของกองทัพเมียนมา ที่มีสัดส่วนทำเงินสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ในปีที่ผ่านๆ มา คือ แหล่งก๊าซยาดานา ที่มีหุ้นส่วนนานาชาติเข้าร่วมจัดการ อันประกอบด้วย บริษัทน้ำมัน โททาล ของฝรั่งเศส บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ของไทย บริษัท Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) ที่รัฐบาลเมียนมาเป็นเจ้าของ และเชฟรอน

องค์กรไม่หวังผลกำไร EarthRights International ประเมินว่า MOGE น่าจะเก็บรายได้จากแหล่งก๊าซยาดานาได้ถึง 536 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ โดยจำนวนดังกล่าวยังไม่รวมถึงภาษีที่เชฟรอนและหุ้นส่วนอื่นๆ ต้องจ่ายให้กับรัฐบาลกรุงเนปิดอว์ เพื่อดำเนินธุรกิจในเมียนมา ซึ่งข้อมูลเมื่อปี ค.ศ. 2018 ระบุว่า อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 120 ล้านดอลลาร์

ในส่วนของ เชฟรอน นั้น EarthRights ประเมินว่า น่าจะทำกำไรต่อปีจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแหล่งก๊าซดังกล่าวได้ 100 ถึง 150 ล้นดอลลาร์ด้วย

อย่างไรก็ดี เบรเดน เรดดัลล์ โฆษกของ เชฟรอน ออกแถลงการณ์ประณามการละเมินสิทธิมนุษยชนในเมียนมา และแสดงความสับสนุนประชาชนของประเทศให้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ระบุว่า บริษัทนั้นเป็นเพียง “หุ้นส่วนที่ไม่มีสิทธิ์บริหาร” ในธุรกิจแหล่งก๊าซยาดานา ทั้งยังไม่ได้ควบคุมการจ่ายเงินโดยตรงให้กับ MOGE นอกจากที่จะต้องชำระภาษีตามกฎหมาย ซึ่งหากต้องระงับไป บริษัทจะทำผิดสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาลเมียนมา และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศนั้นอาจต้องโทษได้

XS
SM
MD
LG