ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อยู่ยาก! รายงานระบุกัมพูชาอันตรายที่สุดในโลกในการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อม


หน่วยงานผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนหรือ Reporters Without Border ระบุว่ากัมพูชาเป็นหนึ่งในสองประเทศที่อันตรายมากที่สุดในโลกสำหรับผู้สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อม

รายงานชิ้นล่าสุดของหน่วยงานผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า มีนักข่าวชาวกัมพูชาอย่างน้อยสี่คนที่ถูกมาตกรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะขุดคุ้ยข่าวการทำผิดกฏหมายด้านสิ่งเเวดล้อม ตัวเลขนี้ทำให้กัมพูชาถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสองประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับนักข่าวสิ่งแวดล้อม

รายงานนี้มีชื่อว่า Hostile Climate For Environmental Journalists ​จัดทำโดยสำนักงานของหน่วยงานผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในฝรั่งเศส ได้จัดอันดับให้กัมพูชาเป็นที่ที่อันตรายเท่ากับอินเดียในการรายงานข่าวประเภทนี้ โดยระบุว่ามีการฆาตกรรมผู้สื่อข่าวสิ่งเเวดล้อมทั้งหมด 10 รายทั่วโลกตั้งเเต่ปีค.ศ. 2010

หน่วยงานผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนชี้ว่า ฝ่ายยุติธรรมของกัมพูชาล้มเหลวในการนำตัวผู้กระทำผิดในเหตุฆาตกรรมผู้สื่อข่าวทั้ง 4 รายในประเทศ และได้เรียกร้องให้ทางราชการในทั้งกัมพูชาและอินเดียทำการสอบสวนการฆาตกรรมผู้สื่อข่าวอย่างป่าเถื่อนนี้อย่างจริงจังและโปร่งใส เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฏหมาย

กรณีการฆาตกรรมผู้สื่อข่าว 4 คนในกัมพูชา เริ่มจากการยิงสังหารนาย Chut Wutty ผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่รู้จักดีในวงการสื่อมวลชนในปี ค.ศ. 2012 ในขณะที่เขากำลังเป็นไกด์นำทางแก่นักข่าวสองคนจากหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษ Cambodia Daily ในจุดที่ใกล้กับเขตอนุรักษ์ในจังหวัดเกาะกง

รายงานนี้ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุติธรรมของกัมพูชาปิดการสอบสวนการฆาตกรรมนาย Chut Wutty ในปีเดียวกัน หลังจากทำการสอบสวนอย่างลวกๆ และศาลตัดสินว่าการเสียชีวิตของนาย Chut Wutty เป็นอุบัติเหตุ แต่ทางหน่วยงานเรียกร้องสิทธิ์หลายกลุ่มชี้ว่าการสอบสวนและการไต่สวนคดีนี้ในศาลขาดความน่าเชื่อถือ

และในปี ค.ศ. 2012 เช่นกัน นาย Hang Serei Udom ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Virakchun ถูกฟันเสียชีวิตในจังหวัด Ratanakiri และพบศพในกระบะหลังรถยนต์ของเขา ส่วนนาย Taing Try ผู้สื่อข่าวที่ไปรายงานข่าวการทำไม้ ถูกฆาตกรรมในจังหวัดกระตีในปี ค.ศ. 2014 และในปีเดียวกัน นาย Suon Chan ผู้สื่อข่าวอีกคนหนึ่ง ถูกฆ่าขณะไปรายงานข่าวการตกปลาผิดกฏหมายในจังหวัดกัมปงชนัง

นอกจากกัมพูชาและอินเดียแล้ว รายงานของหน่วยงานผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยังกล่าวเน้นถึงความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลกในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและรัสเซียด้วย

นาย Ouk Kimseng เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กระทรวงข้อมูลข่าวสารกัมพูชา ยอมรับว่าผู้สื่อข่าวที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกล ประสบกับภัยคุกคามต่อความปลอดภัยต่อชีวิตขณะออกไปรายงานข่าวสิ่งแวดล้อม

เขาชี้ว่าตัวผู้สื่อข่าวเองต้องระมัดระวังตัวเวลาออกไปรายงานข่าวในพื้นที่อันตราย และคิดให้รอบคอบเสียก่อนหรือไม่ก็ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ราชการท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะเข้าไปรายงานข่าวทราบเสียก่อน

เขายังแนะด้วยว่า ผู้ร่างรายงานชิ้นนี้ของหน่วยงานผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนควรไปทำการวิจัยด้วยตัวเองอย่างรอบคอบในกัมพูชา ก่อนที่จะตีพิมพ์รายงานชิ้นนี้ออกมา

(ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน เรียบเรียงรายงานของ Aun Chhengpor)

XS
SM
MD
LG