ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัฐบาลกัมพูชากวาดล้างสื่ออิสระก่อนศึกเลือกตั้งปีหน้า


รัฐบาลกัมพูชา ลงดาบสื่ออิสระทุกรูปแบบอย่างสายฟ้าแลบ ตั้งแต่สิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ยกระดับการควบคุมก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า

มาตรการดังกล่าว มีตั้งแต่การเก็บภาษีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ Cambodia Daily ราว 6 ล้าน 3 แสนดอลลาร์ หรือราว 214 ล้าน 2 แสนบาท พร้อมกดดันให้ปิดตัวสำนักพิมพ์หากไม่สามารถชำระภาษีได้ภายในวันที่ 4 กันยายนนี้ รวมทั้งโจมตีสถานีวิทยุอย่าง Radio Free Asia และ Voice of America ที่สหรัฐฯให้งบประมาณสนับสนุน โดยอ้างว่าไม่มีใบอนุญาติประกอบกิจการกระจายเสียงอย่างถูกต้อง!

นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม กระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งปิด National Democratic Institute หรือ NDI องค์กรเพื่อการพัฒนาและประชาธิปไตยระหว่างประเทศ พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรดังกล่าวออกจากกัมพูชาภายในสิ้นเดือนสิงหาคมด้วย

ขณะที่ มาตรการต่อไปที่อาจเกิดขึ้น คือ การควบคุมวีซ่าและใบอนุญาตทำงานกับนักข่าวอิสระและผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

มาตรการควบคุมและกำกับสื่ออิสระของรัฐบาลกัมพูชา นำโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน นี้ ทาง Nathan Thompson ประธานสโมสรสื่อระหว่างประเทศของกัมพูชา หรือ OPCC มองว่า ถูกจับตามองว่าอาจเป็นการควบคุมอำนาจ เพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับ Phil Robertson รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของ Human Rights Watch บอกว่า รัฐบาลกัมพูชาต้องการควบคุมสื่อ เพื่อลดบทบาทของฝ่ายค้าน และกลุ่ม NGO ที่จะออกเคลื่อนไหวในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า

ด้าน Billy Chai-Lung Tai นักวิเคราะห์อิสระด้านสิทธิมนุษยชน มองว่า มาตรการของรัฐบาลกัมพูชาต่อสื่ออิสระ เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว เพราะสื่ออิสระส่วนใหญ่เป็นนักวิเคราะห์และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ ซึ่งการใช้มาตรการเข้มงวดกับสื่ออิสระ เหมือนกับหันหลังให้ชาติตะวันตก ที่หนุนหลังสื่ออิสระหลายแห่งในประเทศ และสะท้อนความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับจีน

และที่สำคัญ นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกัมพูชาสามารถใช้มาตรการปราบปรามสื่อ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างภาพในการรักษาประวัติด้านสิทธิมนุษยชนให้บรรดาชาติตะวันตกเห็นอีกต่อไป!

อย่างไรก็ตาม ฝั่งสื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ได้นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ โดย Edgardo Legaspi ผู้อำนวยการ Southeast Asian Press Alliance หรือ SEAPA ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาให้ความกระจ่างกับมาตรการควบคุมสื่อที่เริ่มบังคับใช้อย่างสายฟ้าแลบนี้ และเรียกร้องให้นานาชาติ ร่วมกันกดดันรัฐบาลกัมพูชาให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว

ปัจจุบัน กัมพูชามีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในระดับต่ำ ที่อันดับ 128 จาก 182 ประเทศทั่วโลก จากการจัดอันดับขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเมื่อปีที่แล้ว

รวมทั้งข้อมูลจากศูนย์ดูแลสิทธิมนุษยชนของกัมพูชา เปิดเผยว่า สื่อมวลชนในกัมพูชา ยังคงเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง การถูกพิจารณาคดีอย่างไม่ได้รับความยุติธรรม หรือแม้กระทั่งถูกสังหาร

โดยตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา มีสื่อมวลชน 14 รายที่ถูกสังหารโดยไม่สามารถหาผู้ลงมือมาดำเนินคดีได้ และสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจให้กับสื่อมวลชนและนักวิจารณ์ทางการเมืองในกัมพูชา

XS
SM
MD
LG