ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์สัมพันธ์สามเส้า 'อังกฤษ-ฮ่องกง-จีน' ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองและผลประโยชน์ทางการค้า


Hongkong protest
Hongkong protest
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:14 0:00

รัฐบาลอังกฤษและจีนกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หลังจากประชาชนฮ่องกงจำนวนมากเดินขบวนประท้วงติดต่อกัน โดยมีชนวนเหตุมาจากร่างกฎหมายส่งตัวผู้ต้องหาข้ามแดน ที่เป็นข่าวมาหลายสัปดาห์

ด้านหนึ่งอังกฤษ อยู่ภายใต้ความคาดหวังว่าจะต้องยืนหยัดเคียงข้างประชาธิปไตยและการเเสดงความคิดเห็นของคนในฮ่องกง ซึ่งเป็นดินแดนภายใต้อาณานิคมอังกฤษยาวนาน 156 ปี ก่อนการส่งผ่านอำนาจคืนสู่จีนเมื่อ 22 ปีก่อน

แต่อีกด้านหนึ่งจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่อังกฤษต้องการเป็นมิตรด้วย ขณะที่ประเทศกำลังหารายได้เข้ามาทดแทนผลกระทบเชิงลบจากการออกจากสหภาพยุโรป

FILE - A woman waves a British flag as policemen in anti-riot gear stand guard against protesters on a closed-off road near the Legislative Council in Hong Kong, June 12, 2019.
FILE - A woman waves a British flag as policemen in anti-riot gear stand guard against protesters on a closed-off road near the Legislative Council in Hong Kong, June 12, 2019.

หลายครั้งดูเหมือนว่าเหตุการณ์เดินขบวนของประชาชนฮ่องกง กระตุ้นให้อังกฤษแสดงจุดยืนข้างเดียวกับมวลชน

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ นาย เจรามี ฮันท์ เรียกร้องให้จีนทำตามคำประกาศร่วมกับอังกฤษเรื่องการปกป้องเสรีภาพของประชาชน ภายใต้กรอบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารเกาะฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม ห้วงเวลาแห่งการแสดงท่าทีของรัฐมนตรีฮันท์ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างสงบ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ภาคสนามเท่าใดนัก เพราะเมื่อต้นสัปดาห์นี้ กลุ่มผู้ประท้วงบุกเข้ารัฐสภาฮ่องกงและสร้างความเสียหายให้เเก่สถานที่

หลังจากนั้นอังกฤษเริ่มรักษาระยะห่างจากผู้ประท้วงในฮ่องกง
จึงได้เวลาที่ฝ่ายจีนเดินเกมรุกบ้าง กล่าวคือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลปักกิ่งแถลงตำหนิการแทรกแซงของอังกฤษต่อกิจการภายในของจีน และเตือนถึงแรงกระเพื่อมที่รุนแรงซึ่งอาจตามมา

แถลงการณ์ของฝ่ายจีนระบุว่า “ในความคิดของคนบางคน ฮ่องกงยังอยู่ภายใต้อังกฤษ และลืมไปว่า ฮ่องกงอยู่ในอ้อมกอดของแผ่นดินเเม่เเล้ว.... ความคิดของเจ้าอาณานิคมแบบนี้ยังคงหลอนสติเจ้าหน้าที่หรือนักการเมืองพวกนี้อยู่”

ต่อมานาย หลิว เชี่ยวหมิง ผู้กล่าวถ้อยแถลงดังกล่าว ถูกเรียกตัวมาต่อว่าโดยกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ รอยร้าวจากเหตุการณ์นี้กระทบต่องานด้านการทูตที่ช่วยอังกฤษเติมต่อความสัมพันธ์กับจีน ด้านการค้าและการลงทุน

เมื่อเดือนเมษายน รัฐบาลอังกฤษอนุมัติในเบื้องต้นให้บริษัทหัวเหว่ยของจีนช่วยอังกฤษพัฒนาระบบโทรคมนาคม 5 จี แม้ว่าสหรัฐฯ คัดค้าน
และรองนายกรัฐมนตรีจีน ฮู ชุนหัว เดินทางเยือนกรุงลอนดอนเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อร่วมเปิดโครงการเชื่อมการซื้อขายหุ้นระหว่างตลาดหุ้นที่ลอนดอนและเซี่ยงไฮ้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า หากอังกฤษเป็นอย่างประเทศยุโรปบางแห่ง เช่น อิตาลีและฮังการี หน้าที่และบทบาทเรื่องการปกป้องประชาธิปไตยอาจจืดจางลง เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น

รัฐบาลกรุงโรมและบูดาเปส ลงนามเป็นสมาชิกในโครงการ “หนึ่งถนน หนึ่งวงแหวน” ของจีนที่มุ่งสร้างระบบสาธาณูปโภคขนาดยักษ์

Hong Kong
Hong Kong

แต่หากพิจารณาถึงประวัติศาสตร์และค่านิยมประชาธิปไตยที่หลอมอยู่ในวัฒนธรรม สังคมและการเมืองอังกฤษ เป็นการยากที่รัฐบาลกรุงลอนดอนจะนิ่งเฉยต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในฮ่องกง เเม้นั่นอาจนำมาซึ่งผลรอยร้าวในความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนก็ตาม

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Jamie Dettmer)

XS
SM
MD
LG