ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเชื่อข้อตกลง Brexit จะไม่ผ่านสภาอังกฤษ


Anti-Brexit supporters hold European Union flags as they demonstrate outside the Houses of Parliament on Jan. 14, 2019.
Anti-Brexit supporters hold European Union flags as they demonstrate outside the Houses of Parliament on Jan. 14, 2019.

ผลที่อาจตามมามีทั้งการแสดงประชามติครั้งใหม่ การออกเสียงไม่ไว้วางใจรัฐบาล และวิกฤติรัฐธรรมนูญ

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:50 0:00

เมื่อวันจันทร์ นายกรัฐมนตรีหญิง Teresa May ของอังกฤษ กล่าวปราศรัยกับคนงานที่แคว้น Wales ก่อนกำหนดการลงคะแนนครั้งสำคัญเรื่อง Brexit ในสภาว่า ถ้าเธอแพ้การลงคะแนนในวันอังคาร ผลที่อาจเกิดขึ้นคืออังกฤษจะต้องคงอยู่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไป รวมทั้งอาจเกิดภาวะอัมพาตทางการเมืองในสภาได้ด้วย

แต่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคน รวมทั้งรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลอังกฤษชุดปัจจุบันเอง เชื่อว่านั่นคือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นที่คาดหมายว่าข้อตกลงซึ่งนายกรัฐมนตรี Teresa May ใช้เวลาราวสองปีเจรจาต่อรองกับสหภาพยุโรป แต่ไม่ได้รับความสนับสนุนจากส.ส.ในสภา รวมทั้งจากส.ส.ในพรรครัฐบาลของเธอเองอย่างเพียงพอนั้น คงจะถูกโหวตตกไป ถึงแม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปจะพยายามให้ความมั่นใจเพื่อลดความวิตกกังวลและเสียงคัดค้านในสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษก็ตาม

ตามข้อตกลง Brexit ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หลังจากวันที่ 29 มีนาคมนี้ไปแล้วอังกฤษจะยังมีความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปอยู่ในรูปของ Custom Union หรือสหภาพศุลกากร เป็นเวลาหลายปี ขณะที่มีการเจรจาข้อตกลงถาวรขึ้นมาแทน

แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลกรุงลอนดอนจะไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ ของสหภาพยุโรปเลย และจะไม่มีโอกาสทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศนอกสหภาพยุโรปด้วย

คำถามที่สำคัญขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่านายกรัฐมนตรี Teresa May จะแพ้การลงมติในสภาหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจะแพ้ในระดับไหนมากกว่า

โดยนักวิเคราะห์การเมืองบางคนคาดว่า ความพ่ายแพ้จากการออกเสียงเรื่องข้อตกลง Brexit ครั้งนี้ อาจเป็นการปฏิเสธนโยบายของรัฐบาลอังกฤษครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 95 ปี คือตั้งแต่ปีพ.ศ. 2467 เป็นต้นมา ซึ่งในครั้งนั้นรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษแพ้การลงคะแนนถึง 166 เสียงทำให้รัฐบาลต้องล้มครืนลง และต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่

และในครั้งนี้ ความพยายามของนายกรัฐมนตรี Teresa May ที่จะประสานความเห็นต่างระหว่างกลุ่มที่ต้องการ Brexit หรือการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป กับกลุ่มที่ต้องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอยู่ต่อไปหรือ Remainer นั้น ดูยากเกินกว่าที่จะทำให้เป็นจริงขึ้นได้

ในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหลังความพ่ายแพ้ของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Teresa May ส.ส.หลายคน รวมทั้งอดีตรัฐมนตรีของพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นรัฐบาลเอง ก็กำลังเตรียมวางพื้นฐานสำหรับความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารของอังกฤษ เช่น ความพยายามลดอำนาจของรัฐบาลเรื่องการควบคุมการเสนอร่างกฎหมายต่างๆ ลง รวมถึงการเสนอกฎหมายที่จะให้มีการแสดงประชามติครั้งใหม่เรื่อง Brexit เป็นต้น

แต่นักวิเคราะห์ก็เตือนว่า หากมีความพยายามจากสภาเพื่อจำกัดหรือควบคุมอำนาจของรัฐบาลในการเสนอร่างกฎหมายแล้ว เรื่องนี้ก็อาจนำไปสู่ปัญหาวิกฤติด้านรัฐธรรมนูญขึ้นได้ และผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คือ ส.ส. John Bercow ประธานสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษคนปัจจุบัน ที่สนับสนุนให้อังกฤษคงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปต่อไปและต้องการขยายอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในขณะที่ลดอำนาจของฝ่ายบริหารลง

ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มนักการเมืองที่คัดค้านเรื่อง Brexit อีกสองกลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งต้องการให้ระงับหรือเลื่อนตารางการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปจากวันที่ 29 มีนาคมนี้ออกไป เพื่อพยายามสร้างฉันทามติขึ้นใหม่ในหมู่สาธารณะชน

ขณะที่อีกกลุ่มนั้นต้องการกดดันให้มีการแสดงประชามติเรื่อง Brexit อีกครั้งหนึ่ง เพราะขณะนี้ผลการสำรวจความเห็นของชาวอังกฤษแสดงว่ากว่าครึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งต้องการแสดงประชามติเรื่อง Brexit ครั้งที่สอง

และ ส.ส. Jeremy Corbyn ผู้นำพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ ก็กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรี Teresa May แพ้การลงคะแนนในสภาเรื่องข้อตกลง Brexit ในวันอังคาร ตนก็จะยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพื่อให้บรรดาส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางและนโยบายสำคัญที่อังกฤษจะก้าวเดินต่อไป

XS
SM
MD
LG